“วิมล ไทรนิ่มนวล”สอนมวย “กุลธิดา”เวทีรัฐสภามีไว้อภิปราย ไม่ใช่การแสดง

15 ก.ค. 2562 | 08:37 น.

วิมล ไทรนิ่มนวล

 

12 กรกฏาคม 2562 จากกรณีที่ น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายหนุนใช้ “ภาษาท้องถิ่น” ในการอภิปรายในสภาฯ โดยอ้างว่า เรื่องภาษาเป็นสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย และสะท้อนความหลากหลายทางอัตลักษณ์

 

ล่าสุด “วิมล ไทรนิ่มนวล” นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ “วิถีชีวิตกับการแสดง” แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว มีเนื้อหาดังนี้

 

เมื่อคุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อยากให้ใช้ภาษาถิ่นในการอภิปรายในสภา รวมทั้งคนอื่นๆในพรรคอนาคตใหม่อยากให้แต่งตัวตาม “วิจารณญาณ” ด้วยเหตุผลว่า เพื่อเชิดชูและอนุรักษ์อัตลักษณ์ของท้องถิ่น ผมก็ขอทำความเข้าใจกับ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ไว้ตรงนี้นิดหนึ่ง

 

ผมอยู่ในสาย “นิเวศปรมัตถ์” นิยมชมชื่นความหลากหลายอย่างที่โลกธรรมชาติมีและเป็นอยู่ ไม่นิยมพืชเดี่ยวและการเลี้ยงสัตว์เดี่ยว ในสังคมมนุษย์ก็เช่นกัน ผมนิยมความคิด-ลัทธิ-อุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อว่าผมจะได้เลือกสรร-ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับ “นิเวศวิทยาการเมือง” ในสังคมไทย (ไม่ใช่นำมาใช้ทั้งชุด เหมือนเอา “คอกแห่งความคิด-ลัทธิ-อุดมการณ์” นั้นขังตัวเอง และกดขี่-ครอบงำคนอื่นๆให้เข้าอยู่ในคอกเดียวกับตน)

 

ในทางวัฒนธรรมอย่างการแต่งกาย ภาษา รวมถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ผมก็นิยมจะให้มีอย่างหลากหลาย เพราะความหลากหลายคือชีวิตที่งอกงาม

 

แต่ในสถานที่หนึ่งๆ เราไม่อาจ “ยัดเยียด” เอาความหลากหลายเข้าไปไว้ได้ทั้งหมด อย่างเวทีดนตรีก็เหมาะสำหรับแสดงดนตรี โรงละครและโรงลิเกก็เช่นกัน ถ้าเราจะใช้เวทีเดียวกันก็ต้องจัดการองค์ประกอบของเวทีให้เหมาะแก่การแสดงประเภทนั้นๆ และต้องต่างเวลากัน

 

เราต้องจัดแสดงทีละประเภท ไม่ใช่แสดงพร้อมกัน

 

รัฐสภาก็เช่นกัน...ต้องดูว่าเรามีไว้ “แสดง” อะไร?

 

มีวัตถุประสงค์อะไร?

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

 

คำตอบก็คือมีไว้ “แสดงการอภิปราย” เรื่องกิจการงานของประเทศ ตั้งแต่การออกกฎหมายไปจนถึงการซักถามการทำงานของรัฐบาล ซึ่งทั้งหมดก็คือ “การแสดงความคิดเห็น” (ที่แตกต่างหลากหลาย) ดังนั้นการแสดงเรื่องการแต่งกาย – การแสดงเรื่องภาษาถิ่นจึงเป็นเรื่องรองๆ

 

แม้จะอ้างว่า เพื่อ “แสดงการอนุรักษ์และเชิดชูอัตลักษณ์ของท้องถิ่น” ที่หลากหลาย รวมทั้งแสดงความเป็นประชาธิปไตยนั้น ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ “เป็นจริง”

 

ไม่เป็นจริงเพราะมันเป็นแค่ “การแสดง”

 

มันเป็นแค่การแสดงอย่างเดียวกับ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ได้จัดแสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี และการเล่นต่างๆทุกจังหวัดอยู่ทุกปี

 

การแสดงย่อมไม่ใช่ “ของจริง” (เช่นเดียวกับการแสดงมหรสพต่างๆ กระทั่งละครทีวี ภาพยนตร์)

 

การแสดงไม่ใช่ “วิถีชีวิต”

 

ไม่ได้เป็นลมหายใจในชีวิตประจำวันของผู้คน

“วิมล ไทรนิ่มนวล”สอนมวย “กุลธิดา”เวทีรัฐสภามีไว้อภิปราย ไม่ใช่การแสดง

การดำเนินชีวิตตามปรกติของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยหรือชนกลุ่มใหญ่ แต่งกายแบบใด ใช้ภาษาไทยกลางหรือภาษาถิ่นของตน นั่นคือของจริง

 

ตราบใดที่พวกเขายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างนั้น ย่อมเป็นการอนุรักษ์และเชิดชูอัตลักษณ์ของตนอยู่เองแล้ว

 

ดังนั้น พวกคุณที่อยากแสดงเรื่องการแต่งกายและภาษา ก็ไม่ต้องไปแย่งงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเขาทำได้ดีกว่าพวกคุณและทำมานานแล้ว

 

พวกคุณทำนั้นเหมือนจำอวดมากกว่า มันแค่ความสนุกของพวกคุณที่ได้โชว์และท้าทายสังคม โดยมีแรงจูงใจเรื่องการเมืองอยู่ภายใน

 

ไม่มีใครตำหนิคุณได้ ถ้าพวกคุณจะแต่งตัวที่หลากหลาย และใช้ภาษาถิ่นในชีวิตจริง

 

ส่วนเวทีรัฐสภานั้นมีไว้สำหรับแสดงความคิดเห็น เพื่อแก้และป้องกันปัญหาของประเทศ ซึ่งมากเสียจนชาติหน้าก็ทำไม่เสร็จ จึงอย่าเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้มากนัก

 

ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นแต่ประชาธิปไตยเฉพาะพวกคุณ ไม่ใช่ของคนทั้งประเทศ

“วิมล ไทรนิ่มนวล”สอนมวย “กุลธิดา”เวทีรัฐสภามีไว้อภิปราย ไม่ใช่การแสดง