‘ระนอง’เข้มล็อกเรือ66ลํา ล้างประมงผิดกฎหมาย

17 ก.ค. 2562 | 23:35 น.

 

รัฐบาลเร่งผลักดันแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และกำชับเจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันการตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับจุดยืนอาเซียนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้หมดไปจากภูมิภาค ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังเข้าตรวจสอบจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายในพื้นที่จังหวัดระนองได้ถึง 66 ลำ

‘ระนอง’เข้มล็อกเรือ66ลํา ล้างประมงผิดกฎหมาย

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 22-30 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด SAT (Spacial Arrest Team) พร้อมเจ้าหน้าที่กรมประมง ประกอบด้วยเรือตรวจการณ์ กรมประมง และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์นํ้าระนอง หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะสุรินทร์ พังงา ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาที่ทำการประมงผิดกฎหมายที่จังหวัดระนองได้ 66 ลำ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

เรือกลุ่มที่ 1 จำนวน 7 ลำ จับกุมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 เวลาประมาณ 19.10 น. เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริเวณแพพี เจ เลขที่ 92/20 หมู่ 5 ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ในความผิดฐานปลอมแปลงปิดบัง หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายประจำเรือประมง หรือทะเบียนเรือประมง และฐานร่วมกันนำเข้าสัตว์นํ้าหรือผลิตภัณฑ์ สัตว์นํ้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงโทษปรับห้าเท่าของมูลค่าสัตว์นํ้าที่นำเข้า และควบคุมตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองระนอง ดำเนินคดีตามกฎหมาย

เรือกลุ่มที่ 2 จำนวน 59 ลำ จับกุมในระหว่างวันที่ 22-30 มิถุนายน 2562 ซึ่งกักและล็อกไว้ ณ ท่าเทียบเรือต่างๆ ในจังหวัดระนอง และดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้ควบคุมเรือลักลอบนำเรือประมงต่างประเทศเข้ามาในน่านนํ้าไทย และเข้าเทียบท่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมประมง และความผิดฐานปลอมแปลงปิดบังหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายประจำเรือประมง หรือทะเบียนเรือประมง และความผิดฐานร่วมกันนำเข้าสัตว์นํ้าหรือผลิตภัณฑ์สัตว์นํ้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงโทษปรับห้าเท่าของมูลค่าสัตว์นํ้าที่นำเข้า และแจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนความผิดในข้อหาอื่นอยู่ในระหว่างสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

 

“ปฏิบัติการกวาดล้างจับกุมการทำประมงผิดกฎหมาย แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และศักยภาพของประเทศไทย ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน รวมทั้งแสดงจุดยืนของภูมิภาคอาเซียน ที่จะปลอดการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Free) ให้หมดไปจากภูมิภาค”

โดยที่ผ่านมาจากการเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมประมง ในการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้สถิติการเกิดคดีการทำประมงผิดกฎหมายลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2559 มี 3,270 คดี ปี 2560 มี 958 คดี ปี 2561 มี 574 คดี และครึ่งปีนี้ (ถึงมิถุนายน 2562) มี 333 คดี ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลได้สั่งปรับเรือโชคชัยนาวี 35 พร้อมยึดสินค้าบนเรือมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,488 วันที่ 18 - 20 กรกฎาคม 2562

‘ระนอง’เข้มล็อกเรือ66ลํา ล้างประมงผิดกฎหมาย