ราช กรุ๊ป - กฟผ. ลงนามซื้อขายไฟฟ้า 1,400 MW เสริมมั่นคงใช้ไฟภาคใต้

15 ก.ค. 2562 | 07:44 น.

 

 

"ราช กรุ๊ป - กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์"ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของภาคตะวันตกและภาคใต้ ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น

 

 

รายงานข่าวจาก บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังผลิต 2x700 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ที่ตำบลหินกอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยโครงการแรก มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 2567 และปี 2568 สำหรับอีกโครงการ  โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด เพื่อลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง กำลังผลิตติดตั้งชุดละ 700 เมกะวัตต์ จำนวน 2 ชุด คิดเป็นกำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ 

ต่อเรื่องนี้ นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง จะเข้ามาช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของภาคตะวันตกและภาคใต้ ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสร้างอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะหมดอายุในปี 2563 และจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยรอบพื้นที่ของโครงการ บริษัทฯ ยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาโครงการ เน้นการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ดูแลและควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมอย่างเต็มกำลัง 

 “บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่า โครงการโรงไฟฟ้าหินกองจะช่วยเสริมให้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศแข็งแกร่งสามารถตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนตามยุทธศาสตร์ระยาวของชาติ โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตกได้ด้วย” 

 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ ที่ผ่านมาความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา ตามการเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยให้อำนาจเต็มคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพีดีพีโดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อม

 

หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2562 กบง.ได้อนุมัติให้สิทธิบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันราคากับเอกชนรายอื่น ซึ่งผิดหลักการการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ลิตไฟฟ้ารายใหญ่หรือไอพีพี

 

นอกจากนี้ ในวงการผู้ผลิตไฟฟ้า ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า การดำเนินงานของกบง.เป็นการเร่งอนุมัติให้บริษัท ราช กรุ๊ป ดำเนินงาน และมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าให้ทันกับรัฐบาลชุดนี้ เพื่อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะได้ไม่เข้ามารื้อหลังจากมีการลงนามในสัญญาแล้ว หากมีการร้องเรียนถึงขั้นตอนการอนุมัติโดยไม่ผ่านการประมูล

 

อย่างไรก็ตาม มีการชี้แนะว่า หากการดำเนินงานของบริษัท ราช กรุ๊ป โปร่งใสจริง ในฐานะที่กฟผ.ถือหุ้นอยู่ 45 % ในระยะ 5 ปีแรกที่เป็นช่วงก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริษัทราชกรุ๊ป จะต้องไม่ขายหุ้นให้กับพันธมิตรรายอื่นๆ เข้ามาถือหุ้นร่วม เพราะหากบริษัทราช กรุ๊ป มีกฟผ.ถือหุ้นอยู่ 45 % เท่ากับว่า เป็นการดำเนินงานภายใต้รัฐวิสาหกิจ และอีก 55 % เป็นสัดส่วนที่ภาคประชาชนหรือผู้ถือหุ้นควรจะได้รับประโยชน์ ไม่ใช่ว่าจะนำโรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้งเป็นโฮลดิ้งขึ้นมา และกระจายหุ้นไปยังพันธมิตรถือในสัดส่วน 49 % เท่ากับว่าไม่ได้ทำเพื่อประชาชนส่วนรวม แต่เป็นการเอื้อเอกชนเพียงกลุ่มเดียว ที่เข้ามาถือหุ้นในโรงไฟฟ้าภายหลัก ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรมกับประชาชนและเอกชนรายอื่นๆ

 

ราช กรุ๊ป - กฟผ. ลงนามซื้อขายไฟฟ้า 1,400 MW เสริมมั่นคงใช้ไฟภาคใต้