SMEs ทำประกันเสี่ยง ส่งออกน้อยเกินคาด ธสน.ประเมินอาจไม่คุ้มทุน

20 ก.ค. 2562 | 05:40 น.

ธสน.ชี้เอสเอ็มอีทำประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจนแปลกใจ ระบุปัจจัยสำคัญมาจาความไม่สะดวกและผลกำไรที่มีไม่มากอาจไม่คุ้มค่าการลงทุน แนะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ด้านโรสอารยาฟู้ด รับทำประกันความเสี่ยงถึง 80% เพื่อความเชื่อมั่นในธุรกิจ

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมาค่าเงินบาทของไทยมีอัตราการแข็งค่า ส่วนใหญ่ตํ่ากว่าระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยเฉพาะช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับประมาณ 30-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าแข็งค่าเป็นอย่างมาก โดยผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งการทำประกันความเสี่ยงทางด้านส่งออกคาดว่าจะเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการจะให้ความสนใจเลือกใช้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าผิดคาดจากที่คิดเพราะอัตราการเติบโตของการทำประกันเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น   

นายพิสิฐ เสรีวิวัฒนา  กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ทำประกันความเสี่ยงทางด้านการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา  โดยจากข้อมูลล่าสุดมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาทำความเสี่ยงแล้วประมาณ 4 พันราย  จากเป้าที่ธนาคารตั้งเอาไว้ที่ 5 พันราย ซึ่งเติบโตขึ้นในบางช่วงเวลาเท่านั้น  

ทั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างมาก  หากมองจากภาพรวมของเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง  โดยอาจจะรอคอยความหวังว่าเงินบาทจะอ่อนค่ากลับลงไปที่ระดับปกติ โดยเท่าที่ทราบมีผู้ประกอบการบางส่วนที่อาจจะต้องปิดกิจการ  เนื่องจากมีกระแสเงินสด (Clas Flow) ไม่มากพอ แต่รายที่มีกระแสเงินสดดีก็ยังสามารถประคองกิจการต่อไปได้

สำหรับเหตุผลที่ผู้ประกอบการไม่สนใจที่จะเข้ามาทำประกันความเสี่ยงนั้น มาจากความไม่สะดวกในการเข้ามาดำเนินการ  หรือบางกิจการมีกำไรที่ไม่สูงมาก  หากจะต้องทำประกันความเสี่ยงก็จะไม่คุ้มค่ากับต้นทุน เช่น มีกำไรอยู่ 1% เมื่อต้องนำเงินไปทำความเสี่ยง 1% ก็เท่ากับว่าไม่ได้อะไรเลยจากการทำธุรกิจ ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจไปสู่แนวทางอื่น หรือเรียก ว่าเป็นการปรับตัว ปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกับสถานการณ์

“ตัวอย่างการไม่ปรับตัวที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ การค้าขายที่ย่านสำเพ็ง กับพาหุรัด โดยเป็นรูปแบบการค้าแบบพ่อค้าคนกลาง ซึ่งรับผลิตภัณฑ์จากโรงงานมาขาย แต่ปัจจุบันโรงานเองก็มีรูปแบบการทำธุรกิจแบบจัดส่ง ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ก็จะใช้วิธีติดต่อกับโรงงานโดยตรงเพื่อออร์เดอร์สินค้า ส่งผลทำให้ผู้ที่ทำธุรกิจในรูปแบบเดิมไม่สามารถอยู่รอดได้” 

SMEs ทำประกันเสี่ยง  ส่งออกน้อยเกินคาด  ธสน.ประเมินอาจไม่คุ้มทุน

นายพิสิฐ กล่าวต่อไปอีกว่า ผลิตภัณฑ์ของธนาคารเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อช่วยเอสเอ็มอีทำการค้าระหว่างประเทศแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้นส่งออกไปจนถึงช่วงขยายธุรกิจ เช่น สินเชื่อเอ็กซิมเชื่อม SMEs ไทยสู่ CLMV ให้วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย และสินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข วงเงินสูงสุด 7 แสนบาทต่อราย เป็นต้น  

บริการประกันที่ช่วยสร้างความมั่นใจด้วยการป้องกันความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีจากการไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อต่างประเทศ อาทิ บริการประกันส่งออก SMEs Easy วงเงินรับประกัน 2 ล้านบาท โดยคุ้มครอง 85% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น และบริการประกันส่งออกทันใจ SMEs คุ้มครองสูงสุด 1 ล้านบาท เป็นต้น และ3.การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC) เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ และบ่มเพาะเอสเอ็ม อีให้มีความพร้อมและศักยภาพที่จะขยายธุรกิจสู่เวทีโลก เป็นต้น“ขณะนี้บริษัทมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำธุรกิจผ่านทางตัวแทนจำหน่ายหรือเทรดเดอร์มากขึ้น เพื่อให้นำไปส่งออกต่อให้กับลูกค้า  ส่วนที่บริษัทส่งออกด้วยตนเองก็มีบางส่วน โดยถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี” 

นายฉัตรชัย โพธิ์วรสิน ที่ปรึกษา บริษัท โรสอารยาฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทยส่งออกด้วยนวัตกรรมแช่แข็งภายใต้แบรนด์“ใบสลาด” กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีการทำประกันความเสี่ยงทางด้านค่าเงินประมาณ 80% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจาก ธสน. และธนาคารพาณิชย์ที่บริษัทใช้วงเงินสินเชื่ออยู่เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ โดยถือว่าเป็นปริมาณที่มากพอสมควร  แต่ก็ต้องตัดสินใจทำเพื่อเป็นการตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ เนื่องจากตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านค่าเงิน  อีกทั้งในเวลานี้เงินบาทเองก็แข็งค่ามากเป็นลำดับต้นๆของโลก

อย่างไรก็ดี มองว่าการทำประกันความเสี่ยงดังกล่าวแม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจ แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทเป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน เพื่อเป็นการประกันรายได้ให้กับบริษัท โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมก็คือ ข้าวต้มมัด สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องทำธุรกิจส่งออกนั้น ควรที่จะต้องทำประกันความเสี่ยงทางด้านส่งออกเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นตัวช่วยธุรกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3488 วันที่ 18-20 กรกฎาคม 2562

SMEs ทำประกันเสี่ยง  ส่งออกน้อยเกินคาด  ธสน.ประเมินอาจไม่คุ้มทุน