ชิงเค้กดิวตี้ฟรี6หมื่นล. ปลดล็อกจุดส่งมอบ

14 ก.ค. 2562 | 02:00 น.

จับตาเอกชนรุกลงทุนดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี ชิงเค้ก 6.05 หมื่นล้านบาท หลังทอท. เปิดประมูล Pickup Counter สนามบินสุวรรณภูมิ ปลดล็อกปัญหาไร้จุดส่งมอบสินค้า

แม้กรมศุลกากรระบุว่า มีเอกชนยื่นขอดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองหรือดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี รวมกว่า 50 บริษัท แต่จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับไลเซนส์ดำเนินธุรกิจดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี ทั่วประเทศ จำนวน 8 บริษัท มีร้านดิวตี้ฟรีที่เปิดให้บริการจำนวน 12 แห่งเท่านั้น แต่ต่อไปหลังจาก บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. มีนโยบายเปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้า (Pickup Counter) ดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ จะทำให้เอกชนหันมาลงทุนธุรกิจดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีเพิ่มขึ้น โดยมุ่งหวังชิงส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจนี้ที่มีมูลค่า ไม่ตํ่ากว่า 6.05 หมื่นล้านบาทต่อปี

นายกฤษดา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า การเปิดให้มี Pickup Counter ที่สนามบินเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น และจะทำให้มีผู้ยื่นขอทำร้านปลอดภาษีมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเอกชนรายใหม่เข้ามายื่นขอ 

เพราะรอดูเงื่อนไขของการเปิดประมูล Pickup Counter ของทอท.ก่อนว่า เป็นอย่างไร ทำแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ค้าปลีกท่องเที่ยว เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธุรกิจดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี มีการเติบโตไม่มากนัก แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะเริ่มเปิดเสรีดิวตี้ฟรีมาตั้งแต่ปี 2537 โดยอนุญาตให้เอกชนที่สนใจเปิดดิวตี้ฟรีในเมืองได้อย่างเสรีทั้งคนไทยและต่างชาติ ภายใต้กฎหมายการลงทุนไทย โดยไม่ต้องจ่ายผลตอบแทนแก่รัฐ แต่ต้องเสียภาษีการค้าเข้ารัฐอย่างถูกต้อง แต่ปัญหาในอดีตคือ ไม่สามารถส่งมอบสินค้าแก่นักท่องเที่ยวที่กรุงเทพฯได้

ดังนั้นเมื่อทอท.มีนโยบายเปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ในขณะนี้ทอท.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางว่าทอท.จะเป็นผู้เปิดให้บริการเองแล้วให้บริษัทเอกชนมาเช่าพื้นที่เพื่อส่งผ่านสินค้าดิวตี้ฟรี หรือเปิดพื้นที่ในสนามบินให้มาใช้สำหรับการส่งมอบสินค้าร่วมกัน (Common Use) ก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับจ้อง ซึ่งล่าสุดทางไชน่าดิวตี้ฟรี ก็สนใจเข้ามาลงทุนดาวน์
ทาวน์ดิวตี้ฟรีในไทย เนื่องจากเมื่อเปิดเสรี Pick up Counter ต่อไปนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าใน ดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี ทุกแห่ง ก็ไปรับสินค้าได้ ณ จุด Pick up Counter ในสนามบินสุวรรณภูมิได้

อย่างไรก็ตามการแข่งขันในการดึงนักท่องเที่ยว ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ ต้องถือว่าคิงเพาเวอร์ จะได้เปรียบมาก เพราะทำตลาดมานาน ซึ่งปัจจุบันคิงเพาเวอร์ ศรีวารี มีลูกค้ามาใช้บริการไม่ตํ่ากว่า 4-5 พันคนต่อวัน จะมีการจ่ายค่าคอมมิสชันให้ไกด์อยู่ที่ 5% จากยอดขาย จ่ายให้รถบัสที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ที่ราว 800 บาทต่อคัน จ่ายให้หัวหน้าทัวร์ 1-2% จากยอดขาย จ่ายให้เอเยนต์ ทัวร์ อีกราว 3-5% ของยอดขาย รวมถึงคิงเพาเวอร์ ยังเน้นขยายฐานนักท่องเที่ยวคนไทย ผ่านสมาชิกบัตรคิงเพาเวอร์ ที่ให้ส่วนลด 5-20% และจัดโปรโมชันอยู่ตลอดเวลา รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการใช้บริการเลานจ์ในสนามบินด้วย ดังนั้นธุรกิจดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องจ่ายค่าคอมมิสชัน ในราคาที่เท่าเทียมกันในการดึงให้นักท่องเที่ยวเข้าไป

ทั้งนี้ธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมือง มี “บริษัทคิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 90% มีสาขาเปิดให้บริการ 5 แห่งได้แก่ คิงเพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ รางนํ้า, คิงเพาเวอร์ มหานคร, คิงเพาเวอร์ ศรีวารี, คิงเพาเวอร์ พัทยา, คิงเพาเวอร์ ภูเก็ต โดยในปี 2561 มีรายได้กว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี มีกำไร 2.10 พันล้านบาท 

 

ขณะที่ดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี อีก 7 บริษัท มีส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนี้รวมกันราว 500-1,000 ล้านบาท ได้แก่ “บริษัท จี เอ็ม เอส ดิวตี้ฟรี จำกัด” ภายใต้แบรนด์ “ชิลลา ดิวตี้ฟรี” เปิดให้บริการในจ.ภูเก็ต ปี 2561 มีรายได้ 1.29 ล้านบาท ขาดทุน 317 ล้านบาท ส่วนดิวตี้ฟรีของ “ล็อตเต้” ที่เปิดให้บริการอยู่ที่ศูนย์การค้าโชว์ดีซี ปัจจุบันเปิดขายได้เฉพาะสินค้าไทย แต่สินค้าดิวตี้ฟรียังไม่สามารถขายได้ เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าที่สนามบินได้ “บริษัท มอร์แดน ฟรี จำกัด” ของบริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด ปี 2561 มีรายได้ 103 ล้านบาท ขาดทุน 9.23 ล้านบาท  “บริษัท รอยัล พารากอน ภูเก็ต จำกัด” มีนายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปี 2561 มีรายได้ 373 ล้านบาท ขาดทุน 78.5 ล้านบาท 

นอกนั้นเป็นผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในแทบเมืองชายแดนของไทย คือ “บริษัท ฟอร์จูน โลจิสติกส์ จำกัด” มีนายธเนศ ใจสมบูรณ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองที่หนองคาย ปี2561 มีรายได้ 40 ล้านบาท ขาดทุน 1.79 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 59 ล้านบาท กำไร 1.97 ล้านบาท “บริษัทไทยดิวตี้ฟรี จำกัด”ของนายอเล็กซานเดอร์ โพเทมคิ่น นักธุรกิจชาวเยอรมัน และผู้ถือหุ้นชาวไทย ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีที่สตาร์ พลาซ่า ปอยเปต จ.สระแก้ว ปี 2560 มีรายได้ 6.6 ล้านบาท ขาดทุน 1.7 ล้านบาท และ “บริษัทเบตง ซิตี้ พลาซ่า ดิวตี้ฟรี จำกัด” ของนักธุรกิจชาวมาเลเซีย ร่วมกับผู้ถือหุ้น คนไทย ปี 2561 มีรายได้6 .74 แสน บาท ขาดทุน 2.3 ล้านบาท

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ชิงเค้กดิวตี้ฟรี6หมื่นล.  ปลดล็อกจุดส่งมอบ