การเมืองเปิดศึกทึ้งงบ กระสุนไม่พอรายได้ส่อวืดเป้า7.5หมื่นล้าน

14 ก.ค. 2562 | 04:00 น.

“อุตตม” จ่อถอย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังรู้ตัวเลขงบในมือยันต้องเร่งเดินหน้าตามนโยบายหาเสียงก่อน 3 เรื่องหลัก “บัตรคนจน-พักหนี้เกษตรกร-มารดาประชารัฐ” เจองานหินจัดทำงบประมาณปี 63 หลังรายได้ไม่เข้าเป้า

ค่อนข้างชัดเจนว่าหลัง “ครม.ประยุทธ์ 2/1” เข้าเฝ้าฯเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาประมาณกลางเดือนกรกฎาคมนี้
ทำให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานหัวหน้าคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อจัดทำนโยบายรัฐบาล เชิญ 19 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจัดทำนโยบายแล้วเสร็จ และส่งถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว และจะแถลงในวันที่ 24-25 กรกฎาคม นี้

 

เคาะค่าแรงขั้นตํ่า400บ.

นายสนธิรัตน์ กล่าวถึงเนื้อหาของร่างนโยบายรัฐบาลว่า จะมีเนื้อหาทั้งนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำในช่วง 1 ปีแรก อาทิ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชน การลดความเหลื่อมลํ้า รวมทั้งจะบรรจุเรื่องที่เป็นนโยบาย 4 ปี ที่เป็นการสร้างความยั่งยืนของประเทศในทุกมิติ ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งแต่ละนโยบายของทุกพรรคมีเป้าหมายเดียวกัน คือการยกระดับราคาสินค้าเกษตร

ขณะที่นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเป็นวันละ 400 บาท นั้นทุกพรรคเห็นตรงกันว่าควรต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าให้เป็นอัตราที่เพียงพอต่อผู้ใช้แรงงาน ที่มีเป้าหมายว่าจะให้เป็น 400 บาทต่อวัน ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น จะกำหนดลงไปในนโยบายและมาตรการของรัฐบาลอีกครั้ง โดยการจัดทำนโยบายรัฐบาลต้องคำนึงถึงกรอบวงเงินของรัฐบาล เพราะต้องผูกพันกับเรื่องของงบประมาณ และอยู่บนพื้นฐานวงเงินงบประมาณที่สามารถจัดสรรได้ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขวงเงินงบประมาณได้

ส่วนนโยบายด้านพลังงานนั้น จะดำเนินนโยบายเร่งด่วนที่สอดรับกับนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ในการเข้าถึงรากหญ้า ที่จะมีมาตรการให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย แบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้น้อยที่สุด

 

คลังคลอด 3 มาตรการ

สำหรับกระทรวงการคลังนั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนจะมี 3 เรื่องได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พักหนี้เกษตรกรและมารดาประชารัฐ เพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ ส่วนเรื่องอื่นๆ เมื่อบวกลบคูณหารจากงบประมาณที่มีก็อาจจะชะลอไปบ้าง อย่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสม ดังนั้นจึงต้องจัดสรรเงินงบประมาณให้กับพรรคร่วมในการดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้เช่นกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ มีกรอบการทำงานให้เร่งขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งหมดที่ยังค้างท่อให้สามารถจัดประกวดราคาได้ทุกโครงการภายในปีนี้ ซึ่งประกอบด้วยโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 -2560 วงเงินรวมกว่า 8.2 แสนล้านบาท และยังมีโครงการสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี อีกหลายโครงการ เมื่อรวมวงเงินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รอให้รัฐบาลชุดใหม่อนุมัติจะมีวงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท

“รัฐมนตรีว่าการคนใหม่ตั้งเป้าต้องมีโครงการเปิดประมูลทุกเดือน หากมีข้อขัดข้องในจุดไหน ปลัดกระทรวงและหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องเร่งมือแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้หมดสิ้น เพื่อเดินหน้าประกวดราคาตามไทม์ไลน์ที่รัฐมนตรีว่าการกำหนดไว้ เรื่องนี้สร้างแรงกดดันให้กับข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย”

ขณะที่เมกะโปรเจ็กต์ที่ต้องรอครม.ชุดใหม่พิจารณา คือแผนการจัดซื้อฝูงบินของการบินไทย จำนวน 38 ลำ ในช่วงปี2562-2566 ภายใต้วงเงิน 156,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะแบ่งการจัดหาเครื่องบินออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1.แผนจัดหาเครื่องบินในระยะแรก 25 ลำ และ2.แผนจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 13 ลำ ฝูงบินส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ เพื่อนำมาใช้ทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดระวาง 31 ลำ

 

งบปี63ไม่พอขับเคลื่อน

ทั้งนี้ มีรายงานว่ากระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างเร่งจัดทำงบประมาณปี 2563 ตามปฎิทินงบประมาณของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และสำนักงบประมาณ เพื่อจะยืนยันว่า กรอบงบประมาณรายจ่ายจะยังคงเหมือนเดิมตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดก่อนอนุมัติไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ไม่เปลี่ยน
แปลงหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ รายได้งบประมาณปี 2563 จะไม่ได้ตามเป้าหมาย ที่ 2.75 ล้านล้านบาทแล้ว

เนื่องจากรายได้จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)จากการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (4จี) ที่คาดว่า จะเข้ามาในปีงบ 2563จำนวน 130,329 ล้านบาท จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หลังจากรัฐบาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. ออกม.44 ยืดอายุการชำระใบอนุญาต4จีออกไปเป็น 10 งวด ทำให้รายได้ที่จะเข้ามาในปี 2563 เหลือเพียง 54,800 ล้านบาท หรือหายไปกว่า 75,529 ล้านบาท

“รัฐบาลจะต้องตัดสินใจว่า หากจะยืนงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณรายได้ลดลง จะทำให้จากเดิมที่จะเป็นงบประมาณขาดดุลที่ 4.5 แสนล้านบาท ก็จะไม่ใช่อีกต่อไป อาจจะเป็นขาดดุลเพิ่มเป็น 5 แสนล้านบาท หรือมากกว่านั้น แต่ก็ทำได้มากไม่ได้ เพราะมีเรื่องกรอบวินัยการคลังอยู่ด้วย ถ้าหากยังยืนขาดดุลงบประมาณที่ 4.5 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าจะต้องลดกรอบงบประมาณรายจ่ายลงจาก 3.2 ล้านล้านบาท”

ล่าสุดทีมงานของนายอุตตมได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ไปแล้ว และน่าจะทราบข้อมูลเรื่องงบประมาณจากทางสำนักงบประมาณแล้วว่า มีเงินเหลือน้อยกว่าที่คิดไปมาก

 

แก้ส่งออก-ดัน FTA ใหม่

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงได้เตรียมความพร้อมในการรายงานการทำงานต่าง ๆ ของกระทรวงพาณิชย์ต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์สินค้าเกษตร การส่งออก การเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้า รวมถึงเรื่องสิทธิบัตรต่างๆ เพื่อให้รัฐมนตรีทราบ และได้ให้กรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลไว้ ที่จะมาแก้ปัญหาในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและการส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าได้เตรียมสรุปสถานะการเจรจาการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ของไทยกับประเทศต่าง ๆ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ทราบ ทั้งเอฟทีเอ ที่อยู่ระหว่างเจรจา และจะต้องเร่งสรุปในปีนี้ เช่น RCEP และเอฟทีเอที่อาจสานต่อ หรือรื้อฟื้น
การเจรจาที่หยุดชะงักไป หากทั้ง2 ฝ่ายมีความพร้อม และเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น เอฟทีเอไทย-อียู เอฟทีเอไทย-EFTA เป็นต้น

นายไพศาล เตี๋ยวงษ์-สุวรรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) เผยว่าอคส.ได้เตรียมจัดทำรายงานให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่รับทราบว่าอคส.มีงานอะไรที่ต้องดำเนินการบ้างเช่นความคืบหน้าโครงการการพัฒนาพื้นที่บริเวณคลังสินค้าธนบุรี การจัดหารายได้เข้าองค์กร และงานที่ดำเนินการทั่วไปเป็นต้น

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 การเมืองเปิดศึกทึ้งงบ  กระสุนไม่พอรายได้ส่อวืดเป้า7.5หมื่นล้าน