ปล่อยปละ เป็นเหตุให้ลูกน้องยักยอกเงิน หัวหน้าไม่พ้นต้องรับผิด!

15 ก.ค. 2562 | 08:05 น.

 

กรณีที่ลูกน้องกระทำการทุจริตในหน้าที่ เช่น ยักยอกเงิน โดยที่หัวหน้ามิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย เพียงแต่ละเลยไม่ตรวจสอบการทำงานของลูกน้องอย่างรอบคอบ เช่นนี้ ... หัวหน้าจะต้องรับผิดทางวินัยหรือไม่?

นับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าที่มีลูกน้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเงินการบัญชี

ดังเช่นอุทาหรณ์จากคดีปกครองในฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างของการที่หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาไม่ตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการเงินของผู้ใต้บังคับบัญชา จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตยักยอกเงินและทางราชการได้รับความเสียหาย

โดยเหตุของคดีเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นพนักงานเทศบาล โดยเป็นหัวหน้าการเงินและบัญชี ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บค่าบริการบำบัดนํ้าเสียของส่วนช่างสุขาภิบาล โดยเป็นคณะกรรมการเก็บรักษาเงิน เก็บเงินค่าบริการบำบัดนํ้าเสียและลงชื่อในใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งรับผิดชอบ การปฏิบัติงานของพนักงานจ้างทั่วไปที่ทำหน้าที่เก็บเงินดังกล่าว

ต่อมา มีการตรวจสอบพบการทุจริตยักยอกเงินค่าบริการบำบัดนํ้าเสีย นายกเทศมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดี โดยคณะกรรมการ มีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีปล่อยปละละเลย ไม่ควบ คุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่จัดเก็บค่าบริการบำบัดนํ้าเสียให้เป็นไปตามระเบียบที่ทางราชการกำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้นางสาว จ. พนักงานจ้างทั่วไปซึ่งทำหน้าที่จัดทำบัญชีและรับ-ส่งเงินค่าบำบัด นํ้าเสีย กระทำการทุจริตยักยอกเงิน ทำให้ราชการเสียหาย อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

นายกเทศมนตรีจึงมีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดมีมติยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งปลดออกจากราชการ และมติยกอุทธรณ์ดังกล่าว

ประเด็นที่น่าสนใจของคดี คือ การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ควบคุมดูแลการรับ-ส่งเงินค่าบริการบำบัดนํ้าเสีย จนเป็นเหตุให้นางสาว จ. ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตยักยอกเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับมอบหมายให้ลงชื่อในใบเสร็จรับเงินแทนผู้อำนวยการสำนักการคลัง เป็นคณะกรรมการเก็บรักษาเงินและคณะกรรมการเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัย รวมทั้งรับผิดชอบการปฏิบัติงานของพนักงานจ้างทั่วไปที่เป็นพนักงานเก็บเงินค่าบริการบำบัดนํ้าเสีย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 อย่างเคร่งครัด และต้องควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดทำบัญชีประจำวัน งบดุล งบประจำปี (งบบัญชี) งบทดรอง และบัญชีแยกประเภท ซึ่งต้องละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก

ปล่อยปละ  เป็นเหตุให้ลูกน้องยักยอกเงิน หัวหน้าไม่พ้นต้องรับผิด!

 

เมื่อนางสาว จ. ให้ถ้อยคำว่า หลังจากได้รับเงินค่าบริการบำบัดนํ้าเสียแล้ว จะนำเงินให้ผู้ฟ้องคดีตรวจสอบใบนำส่งก่อนนำไปฝากธนาคาร ซึ่งระยะหลังไม่ได้นำสมุดบัญชีเงินฝากให้ผู้ฟ้องคดีดู โดยนางสาว จ.จะแก้ไขตัวเลขใหม่และแก้ไขลายมือชื่อผู้ฟ้องคดีในใบนำฝากเงิน เมื่อฝากเงินแล้วจะทำการแก้ไขสำเนาใบนำฝากเงินและตกแต่งตัวเลขในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่เคยพบข้อผิดพลาดหรือสงสัยเลย

ประกอบกับผู้ฟ้องคดียอม รับว่า ได้ตรวจใบนำฝากเงินบ้าง ไม่ตรวจบ้าง และไม่ได้ตรวจยอดเงินเข้า โดยจะตรวจสอบเพียงตัวเลขกับเงินนำส่งเพียงอย่างเดียว ไม่เคยตรวจสอบสมุดบัญชีอย่างละเอียด ไม่ได้จัดทำบัญชีประจำวัน งบดุล งบประจำปี

ไม่เคยเรียกดูรายงานแสดงฐานะทางการเงิน และไม่ได้จัดเก็บสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารไว้ในตู้นิรภัย

การที่ผู้ฟ้องคดีมิได้เอาใจใส่และระมัดระวังในการควบคุมดูแลการรับ-ส่งเงินค่าบริการบำบัดนํ้าเสียของนางสาว จ. ซึ่งหากมีความละเอียดรอบคอบ เอาใจใส่ และระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ของหัวหน้าการเงินและบัญชีอย่างเพียงพอ ย่อมพบข้อพิรุธได้ แต่ผู้ฟ้องคดีก็หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ และการที่ผู้ฟ้องคดีบ่ายเบี่ยง การรายงานตรวจสอบทางด้านการเงินทั้งที่ผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล ได้ติดตามทวงถามมาตลอดก่อนที่จะทราบเหตุการณ์ยักยอกเงิน อีกทั้งให้นางสาว จ. จัดเก็บสมุดบัญชีเงินฝากและงบแสดงฐานะการเงินที่ได้รับจากธนาคารไว้กับตัวเองเป็นเวลาหลายปี

ปล่อยปละ  เป็นเหตุให้ลูกน้องยักยอกเงิน หัวหน้าไม่พ้นต้องรับผิด!

พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ปล่อยปละละเลยไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย กรณีจัดเก็บค่าบริการบำบัดนํ้าเสียดังกล่าว จนเป็นเหตุให้มีการทุจริตยักยอกเงินและราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังนั้น การที่นายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีมติยืนตามคำสั่งดังกล่าว จึงเป็น การกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 595/2561)

 

จากอุทาหรณ์ข้างต้นจึงเป็นข้อเตือนใจสำหรับการปฏิบัติงานราชการไม่ว่าจะในตำแหน่งหน้าที่ใดก็ตาม ผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจำต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่ทางราชการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในฐานะเป็น “ผู้บังคับบัญชา” จะต้องรอบคอบและหมั่นตรวจสอบการปฏิบัติงานของ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” อยู่เสมอ เพื่อควบคุมและสอดส่องมิให้มีการกระทำใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการ

โดยเฉพาะงานด้านการเงินการคลัง เพราะหากปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อจนเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต หรือเป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอาศัยโอกาสจากหน้าที่กระทำการทุจริตและเกิดความเสียหายขึ้นแก่ทางราชการแล้ว ผู้บังคับบัญชาจะอ้างว่ามีภาระงานมากหรือหลงลืมมิได้ตรวจสอบข้อมูลเพราะมีรายละเอียดมาก มาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดในทางวินัยหรือแม้กระทั่งในทางละเมิดไม่ได้นะครับ!

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สาย ด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบ ค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admin court.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อย อุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

 

อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3487 ระหว่างวันที่ 14 - 17 กรกฎาคม 2562

ปล่อยปละ  เป็นเหตุให้ลูกน้องยักยอกเงิน หัวหน้าไม่พ้นต้องรับผิด!