ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์

12 ก.ค. 2562 | 03:00 น.

เวที "จากอวนสู่ปาก" ชู 40 โรงงานต้นแบบปฏิวัติอุตสาหกรรมประมง ให้มีการจ้างงานอย่างเป็นธรรม หลังพบข้อมูลมีแรงงาน 36% จากจำนวนกว่า 3 แสนราย ยังเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ พร้อมเปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง หวังช่วยเหลือลูกหลานแรงงานข้ามชาติให้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ  เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์

น.ส.ยุภาพร บุญติด ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวในเวทีเสวนาว่า สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการใช้แรงงานข้ามชาติที่ไม่เป็นธรรมในหลายส่วน และยังมีการพบการบังคับใช้แรงงานเด็กในภาคประมง จากสถิติแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานประจำปี 2562 พบว่า ประเทศไทยมีแรงข้ามชาติจำนวนทั้งสิ้น 3.9 ล้านคน อยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลที่ได้จดทะเบียนในระบบกว่า 302,000 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมดนั้นมีกว่า 36% ที่ยังคงเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพและการประกันตน 

ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ  เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์

นอกจากนี้ ยังพบว่าบุตรที่เป็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติในไทยไม่น้อยกว่า 2 แสนคน ยังไม่เข้าถึงระบบการศึกษาใดๆ ทั้งระบบโรงเรียน และ ระบบที่ไม่เป็นทางการ จึงเป็นที่มาของโครงการ "SEAS of Change” หรือ โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อหยุดการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง

"โครงการนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมประมงปลอดจากแรงงานเด็ก และสนับสนุนการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ อย่างเป็นธรรม ภายใต้แนวคิด “Net to Napkin” หรือ "จากอวนสู่ปาก จากทะเลถึงบ้าน เราจะอยู่ส่วนไหนในห่วงโซ่การหยุดปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมประมง" ที่เริ่มตั้งแต่แรงงาน ครอบครัว และผู้ติดตาม รวมถึงเจ้าของกิจการ ผู้ค้า และผู้บริโภค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ " น.ส.ยุภาพรกล่าว

ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ  เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์
ในส่วนของประเทศไทย แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ การศึกษา สอนหนังสือให้เด็กข้ามชาติ ในศูนย์การเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โรงเรียน ด้านที่ 2 คือ การพัฒนาทักษะต่างๆให้เด็กกลุ่มอายุ 15-18 ปีให้มีทักษะอาชีพ ก่อนที่อายุจะเข้าถึงเกณฑ์ที่เป็นแรงงานโดยถูกกฎหมายได้ ด้านที่ 3 คือ การคุ้มครองทางสังคมถ้าเจอกรณีที่เด็กถูกล่วงละเมิด บังคับเป็นแรงงานเถื่อน ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่มีสภาพการทำงานที่เหมาะสมกับเด็ก และด้านที่ 4 การมีส่วนร่วมของซัพพลายเชน ซึ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมด้วย โดยจัดอบรม Business Social Compliance Initiatives (BSCI) หรือ ระบบตรวจสอบแนวคิดมาตรฐานทางสังคมธุรกิจ

การดำเนินโครงการขององค์กรทำให้ที่ผ่านมามีแรงงานชาวกัมพูชารวม 1,555 คนได้รับความช่วยเหลือ แบ่งเป็น 761 คนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และ 794 คน เป็นแรงงานที่กลับประเทศต้นทางและได้รับบริการทางสังคมในด้านต่างๆ ส่วนลูกหลานแรงงาน ผู้ติดตามแรงงาน มี 2,306 คน ที่เข้าถึงบริการด้านการศึกษา ทั้งที่ศูนย์เรียนรู้ของโครงการ และเข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียนของไทย ส่วนการฝึกอบรมเยาวชนให้มีทักษะด้านต่างๆนั้น มีการอบรมไป 314 คน ให้มีทักษะด้านอาชีพ ขณะที่กลุ่มของผู้ประกอบการที่เข้าฝึกอบรม BSCI มีกว่า 40 บริษัท แรงงาน 34,911 คน ที่เข้ามาร่วมการอบรม และจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนด เช่น เคารพสิทธิเสรีภาพของลูกจ้างในการรวมตัวและเจรจาต่อรองไม่เลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง และมอบโอกาสที่เท่าเทียมให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย และให้การคุ้มครองพิเศษสำหรับแรงงานที่ยังไม่ใช่ผู้ใหญ่

ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ  เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์

ผอ.ฝ่ายโครงการองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังเรียกร้องให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรูปแบบของโครงการ SEAS of Change มาบรรจุเป็นหนึ่งในมาตรฐาน และแนวทางทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการจะต้องนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน เพื่อดูแลเด็กข้ามชาติ พร้อมขอให้เรียกร้องไปยังผู้บริโภค ให้สนับสนุนธุรกิจที่มีการจ้างงานอย่างเป็นธรรม 

ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ  เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์

นอกจากนี้ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดทำงานวิจัย ใน 4 หัวข้อ คือ 1.การวิเคราะห์ประโยชน์ที่รัฐบาลไทยได้รับจากการประกันการเข้าถึงการศึกษาให้แก่เด็กย้ายถิ่นชาวกัมพูชา 2. การวิเคราะห์สถานการณ์และผู้มีส่วนได้เสียในการบริการให้ความคุ้มครองเด็กแก่เด็กและเยาวชนย้ายถิ่นชาวกัมพูชา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนหญิงในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทย 3. การวิเคราะห์สถานการณ์และผู้มีส่วนได้เสียในการบริการให้ความคุ้มครองเด็กแก่เด็กและเยาวชนย้ายถิ่นชาวกัมพูชา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนหญิงในอุตสาหกรรมประมงของไทย และ 4.การวิเคราะห์เชิงนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดการณ์จากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายการย้ายถิ่นและข้อบังคับเมื่อเร็วๆนี้ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงไทยและแรงงานย้ายถิ่น

นางวิชาดา จอร์จ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กล่าวถึงสถานการณ์การจ้างแรงงานข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมประมง ว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติทำงานในไทยกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า กัมพูชา และลาว แต่ไทยยังพบการขาดแคลนแรงงานภาคประมง โดยมีความต้องการแรงงานประมาณ 30,000 คน แต่กรมการจัดหางานจัดหาให้ได้ 6,000 คน ส่วนการนำเข้าแรงงานตาม MOU เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มดีขึ้น

ปัญหาที่พบเจอมากที่สุด คือตัวแรงงานไม่อยากทำประมง พบคนงานหนีงาน หนีจากกิจการประมงไปอยู่กิจการอื่น เพราะหากนำเข้า MOU ไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ เว้นแต่ถูกนายจ้างทำร้าย ทั้งนี้เห็นด้วยกับการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น สิทธิการติดต่อญาติพี่น้อง การจำกัดระยะเวลาการทำงาน พร้อมกันนี้ขอฝากไปยังนายจ้าง และลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายเพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคม  ทั้งนี้กรมการจัดหางานมีความเข้มข้นในการหยุดห่วงโซ่การค้ามนุษย์ โดยปัญหาการค้ามนุษย์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยตั้งแต่ห่วงโซ่แรก

"ถ้ามีการค้ามนุษย์ สินค้าก็ขายให้กับต่างชาติไม่ได้ เศรษฐกิจไทยก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้นเรื่องค้ามนุษย์ไม่ได้เป็นปัญหาของภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคนในประเทศ เพราะไม่ว่าจะไปไหน คนก็จะชี้มาว่ามาจากประเทศที่มีการค้ามนุษย์" นางวิชาดากล่าว

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า ลูกเรือส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาร์ และกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเอกสารครบถ้วน ประมาณ 6 หมื่นคน ภาพรวมสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังมีทีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การปฏิบัติของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้าง ที่อาจถูกเลือกปฏิบัติ เพราะแรงงานเป็นคนข้ามชาติ ถูกยึดเอกสารโดยนายจ้าง เช่น พาสปอร์ต บัตรเอทีเอ็ม และ ประเด็นสิทธิแรงงาน และ ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าลูกจ้างได้นายจ้างที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ถือว่าโชคดีไปอย่างไรก็ตามภาคประมงจะต้องเร่งปรับทัศนคติของตัวเอง อย่าบ่นว่าขาดแคลนแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ควรทบทวนด้วยว่าที่แรงงานหนีไปเป็นเพราะพวกเขาถูกปฏิบัติย่างไม่เท่าเทียมหรือไม่

นางอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ไทยส่งออกทูน่าเป็นอันดับหนึ่ง การที่จะผลิตทูน่าต้องใช้แรงงานมาก จึงต้องนำแรงงานข้ามชาติเข้ามา โดยตามกฏหมายใหม่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านเอ็มโอยู ซึ่งสมาคมที่มีสมาชิก 26 โรงงานได้ปฏิบัติตามกฏหมาย ส่วนใหญ่แรงงานเป็นแรงงานนำเข้าจากประเทศพม่า และมีบางส่วนจากกัมพูชา ประมาณ 4-5 หมื่นคน ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานที่นำเข้าในรูปแบบเอ็มโอยู ประเด็นที่เป็นปัญหาของสมาคมและ ไม่สามารถควบคุมได้ คือ ค่าธรรมเนียมการจัดหางาน หรือ Recruitment fees ก่อนที่จะมาเป็นแรงงานของเรา

ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ  เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์

“โครงการ SEAS of Change เป็นโครงการที่ดี ถ้าเราไม่มีแรงงานเราก็อยู่ไม่ได้ อีกทั้งเมื่อเข้าร่วมโครงการต่างชาติยอมรับสินค้าเรามากขึ้น เพราะสมาคมเราค่อนข้างเข้มงวดกับสมาชิก ว่าจะต้องเซ็นต์สัญญา เช่น ต้องจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรม และไม่มีแรงงานเด็ก” นางอรรถพันธ์กล่าว 

ด้านภาคเอกชน อย่างบริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด โดยนายวิชาญ จันทราวิสุทธิ์ รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายตลาดต่างประเทศ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องจ้างแรงงานข้ามชาติเพราะไทยขาดแรงงาน บริษัทจึงใช้แรงงานข้ามชาติควบคู่กับการใช้เครื่องจักรในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ SEAS of Change นั้น เพราะอยากให้แรงงานมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สวัสดิการพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษา ตามที่องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำศูนย์เอาไว้ที่ ต.ทับมา อ.เมืองระยอง ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์เลยเผยแพร่ และแนะนำให้แรงงานไปใช้บริการ รวมถึงให้ไปบอกเพื่อนๆแรงงานข้ามชาติที่โรงงานอื่นด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถเห็นได้ในทันทีทันใด แต่สิ่งสำคัญคือ แรงงานเหล่านี้มีทางออกในการให้การศึกษาบุตรหลาน ช่วยให้เขารู้สึกว่า ที่นี่เป็นสังคมที่มีความน่าอยู่ มีความหวังต่อตัวบุตรหลาน

ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ  เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์

ปัญหาแรงงานประมงยังไม่จบ  เปิด 4 งานวิจัย หยุดห่วงโซ่ค้ามนุษย์