มอ’ไซค์ฝ่าวิกฤติยอดร่วง

16 ก.ค. 2562 | 23:45 น.

 

เศรษฐกิจพ่นพิษ-ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า  กระทบกำลังซื้อฐานรากลูกค้าหลักตลาด 2 ล้อ ค่ายรถแก้เกมแห่เปิดตัวรุ่นใหม่ อัดกิจกรรมไม่ยั้ง เข้าร่วมอีเวนต์ใหญ่-โรดโชว์ต่างจังหวัดถี่ยิบ พร้อมกางแผนรับมือมาตรการภาษีจากกรมสรรพสามิตและการยกระดับไอเสียยูโร 4

ทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์ในครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะเหนื่อยหนัก ถ้าดูจากปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกตํ่า การเมืองไม่นิ่ง ค่าเงินบาทแข็ง ไฟแนนซ์มีความเข้มงวด ส่งผลให้ลูกค้าฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มหลักของตลาดรถจักรยาน ยนต์ไทย ชะลอกำลังซื้อออกไป นอกจากนั้นแล้วในครึ่งปีหลังถือเป็นช่วงโลว์ซีซันของการขาย เพราะฝนตก และเป็นช่วงเปิดเทอมที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองต้องใช้เงิน

  ขณะที่ปัจจัยที่ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์กำลังติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลต่อการปรับขึ้นลงของราคารถหรือไม่นั้น คือ การผลักดันมาตรฐานไอเสียจากเดิมยูโร 3 เป็นยูโร 4 รวมไปถึงการคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่จากเดิมที่จัดเก็บตามซีซีของเครื่องยนต์ ก็จะปรับเปลี่ยนเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคาดว่าจะบังคับใช้ในต้น
ปี 2563

มอ’ไซค์ฝ่าวิกฤติยอดร่วง

 

“ครึ่งปีแรกตลาดรถจักรยานยนต์ตกไป 4 % หรือประมาณ 9 แสนคัน ส่วนสถานการณ์ในครึ่งปีหลังคาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าไร ทำให้ประเมินว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 1.75 ล้านคัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 2% ส่วนเซ็กเมนต์ที่ได้รับผลกระทบและยอดตกมากคือ สปอร์ต รวมไปถึงกลุ่มบิ๊กไบค์ อย่างไรก็ตามในกลุ่มเอที และ รถครอบครัวยังมีอัตราการเติบโต” นาย ชิเกโตะ คิมุระ ประธาน​กรรมการ​บริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัดกล่าว

จากทิศทางตลาดที่เกิดขึ้น ทำให้ฮอนด้าแก้เกมด้วยการเปิดตัวรถยอดนิยมอย่างคลิก ไอ 150i ใหม่ ราคา 6.07 หมื่นบาทและ คลิก 125i ใหม่ ราคา 5.1-5.47 หมื่นบาท พร้อมยังใช้ พรีเซนเตอร์ มาริโอ้ เมาเร่อ เพื่อสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย

“ฮอนด้า คลิก ไอ เป็นรถในกลุ่มสปอร์ต เอ.ที. ที่ครองแชมป์ยอดขายสูงสุดมาอย่างยาวนาน จนมียอดสะสม 2.6 ล้านคัน และเราคาดหวังว่าในรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะเปิดนี้จะได้รับการตอบรับสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเราตั้งเป้าหมายการขายไว้ที่ 1.4 แสนคันภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วางขายในเดือนกรกฎา​คมนี้”

สำหรับฮอนด้าภายใต้การขับเคลื่อนของประธานคนใหม่ ได้ประกาศว่าเป้าหมายการขายในปีนี้จะอยู่ที่ 1.38 ล้านคัน ลดลง 2 % เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 1.4 ล้านคัน

ขณะที่ผู้เล่นอีกรายที่ยอดขายตกลงแบบเห็นได้ชัดคือ จีพีเอ็กซ์ (GPX) จักรยานยนต์สัญชาติไทย โดยนายไชยยศ ร่วมใจพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศ ไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทำให้เซ็กเมนต์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสปอร์ต ซึ่งจีพีเอ็กซ์ มีรถที่อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมดทำให้หดตัวลงตามตลาด อย่างไรก็ตามยังคงมั่นใจว่าจนถึงสิ้นปียอดขายจะใกล้เคียงหรือลดลงไม่เกิน 10%

“เดิมลูกค้าจะซื้อรถเพื่อตอบสนองความชอบ หรือไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจรวมไปถึงบรรยากาศต่างๆในตอนนี้ทำให้ลูกค้าหันมาซื้อรถที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งครอบครัว”

 

ส่วนกลยุทธ์ที่จีพีเอ็กซ์ เตรียมจะนำมากู้ยอดขายในช่วงโลว์ซีซันคือ เพิ่มความถี่ของการเปิดรถรุ่นใหม่ทุกเดือน ล่าสุดเพิ่งจะเปิด MAD 300 เคาะราคา 9.35 หมื่นบาท และในเดือนสิงหาคมจะมีรุ่นใหม่ออกมาอีกหนึ่งรุ่น นอกจากนั้นแล้วบริษัทยังพัฒนาเครื่องยนต์หัวฉีด ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้ภายในสิ้นปีนี้รถที่จำหน่ายจะเป็นหัวฉีดทั้งหมด

“เราพัฒนาหัวฉีดเพื่อรองรับกับมาตรฐานต่างๆรวมไปถึงการรับกับมาตรฐานยูโร 4 เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งยังไม่แน่ใจในกฎเกณฑ์ของรัฐว่าจะจัดเก็บอย่างไรบ้าง ตอนนี้ต้องรอให้ประกาศออกมาเป็นราชกิจจาฯ ก่อน หลังจากนั้นเราถึงจะประเมินได้ว่าราคารถจะมีการปรับเปลี่ยนเท่าไร” นายไชยยศ กล่าว

ด้านยามาฮ่าที่ยอดชะลอตัวลงเล็กน้อยก็เดินหน้าบุกหนัก เดินสายจัดกิจกรรมกับผู้แทนจำหน่ายทั้งในกรุงเทพฯและ
ต่างจังหวัด ทั้งกิจกรรมโรดโชว์ และอีเวนต์ใหญ่ในช่วงปลายปี อาทิ บิ๊ก มอเตอร์เซลส์ และ มอเตอร์เอ็กซ์โป พร้อมเตรียมเปิดตัวรุ่นใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4

ขณะที่ตลาดบิ๊กไบค์ในภาพรวมลดลง 2 % เฉพาะในกลุ่มพรีเมียมที่มี 4แบรนด์ใหญ่อย่าง ไทรอัมพ์,ฮาร์ลีย์- เดวิดสัน ,บีเอ็มดับเบิลยู และดูคาติ มียอดขายรวมที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งค่ายที่มีการเติบโตสูงสุดและแย่งยอดขายมาจากแบรนด์อื่นๆคือ ฮาร์ลีย์- เดวิดสัน ที่ขายได้ 1,046 คัน เพิ่มขึ้นจากเดิมในช่วงเดียวกันที่ขายได้เพียง 399 คัน

สาเหตุที่ยอดขายของฮาร์ลีย์-เดวิดสันถล่มทลายกว่าค่ายอื่นๆ นั้นเป็นผลมาจากการตั้งโรงงานในประเทศ ไทย ซึ่งมีผลทำให้ราคาขายของรถหลายรุ่นลดลงตั้งแต่หลักแสนสูงสุด 5 แสนบาท

“ตลาดบิ๊กไบค์ในช่วงที่ผ่านมาได้รับการกระตุ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การมีผู้เล่นเข้ามาตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น ทำให้ราคาถูกลง เป็นการสร้างฐานให้ตลาดนี้ใหญ่มากขึ้น นอกจากนั้นแล้วการแข่งขันในตลาดนี้สูงมาก มีแคมเปญ ลด แลก แจกแถม ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกับตลาดคือ ความเข้มงวดของไฟแนนซ์ เศรษฐกิจที่ยังไม่ดี ซึ่งหากปัญหาตรงนี้คลี่คลายก็คาดว่าตลาดนี้จะกลับมาเติบโต” แหล่งข่าวจากผู้ผลิตรถจักรยานยนต์กล่าว  

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562