ตลาดชิป-สมาร์ทโฟน-จอ OLED สะเทือน! ญี่ปุ่น-โสมขาวฟ้อง WTO เปิดศึกวัตถุดิบสินค้าไฮเทค

11 ก.ค. 2562 | 10:05 น.

เป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นต้องร้องเรียนกันในเวทีองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้หยิบยกประเด็นขึ้นมาร้องเรียนต่อที่ประชุมดับบลิวทีโอในกรุงเจนีวา ต้นสัปดาห์นี้ (9 ก.ค.2562)กรณีรัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการคุมเข้มจำกัดการส่งออกวัตถุดิบสำคัญ 3 รายการที่บริษัทเอกชนด้านไอทีของเกาหลีใต้จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าอย่างเช่น จอภาพสำหรับสมาร์ทโฟน โทรทัศน์ และเซมิคอนดัคเตอร์ ส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้โดยทั่วหน้า อาทิ บริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ และบริษัท เอสเค ไฮนิกซ์ ที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายรายทั่วโลก รวมทั้งบริษัท แอปเปิ้ล อิงค์. จากสหรัฐอเมริกา

 

ทั้งนี้ วัตถุดิบการผลิตทั้ง 3 รายการได้แก่  fluorinated polyimide, high-purity hydrogen fluoride และ photoresist ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าตลาด ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ราว 70-90%

ผู้นำของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พบกันล่าสุดในการประชุม G20 ที่นครโอซาก้า เมื่อเร็วๆนี้

 “เราไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่ว่าสถานการณ์อาจจะกินเวลายืดเยื้อออกไปอีก แม้ว่าเราจะพยายามดำเนินการทางการทูตแล้วเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้กล่าวกับกลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำด้านไอทีภายในประเทศ 30 ราย พร้อมทั้งระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้ไม่สมควรจะเกิดขึ้น เกาหลีใต้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเตรียมความพร้อมรับมือกับทุกความเป็นไปได้  ขณะเดียวกันรัฐบาลเกาหลีใต้ให้คำมั่นต่อบริษัทเอกชนว่าจะสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้ผู้ประกอบการจัดหาชิ้นส่วนประกอบ วัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ จากแหล่งภายในประเทศ  ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวระบุว่า ซัมซุงและเอสเค ไฮนิกซ์ ได้ซื้อตุนวัตถุดิบบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตเป็นปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้ในช่วงเวลา 4 เดือน บริษัทยังปฏิเสธข่าวลือที่ว่า มีแผนลดกำลังการผลิตชิป NAND  หุ้นของทั้งสองบริษัทดีดตัวขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ (10 ก.ค.)เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้สุดท้ายแล้วต้องมีการปรับลดกำลังการผลิตซึ่งจะส่งผลให้ราคาชิปทะยานสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องของเกาหลีใต้ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นยกเลิกการจำกัดการส่งออก และปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าการกระทำของญี่ปุ่นเป็นการละเมิดกฎกติกาของดับบลิวทีโอ  ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้แจ้งต่อดับบลิวทีโออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นได้จัดทำรายงานการศึกษาเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจใช้มาตรการจำกัดการส่งออกด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง นอกจากนี้ กระบวนการการค้าที่ญีปุ่นใช้กับเกาหลีใต้ก็เป็นกระบวนการในระดับปกติ  นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2562 เป็นต้นไป ผู้ส่งออกสินค้าทั้ง 3 รายการข้างต้นต้องยื่นเรื่องขอรับการอนุมัติจากภาครัฐทุกครั้งก่อนจะส่งออกสินค้าให้กับผู้ซื้อในเกาหลีใต้  

เกาหลีใต้มีแผนจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อ “แสวงหาความร่วมมือระดับประเทศ”

ในส่วนของเกาหลีใต้นั้น ไม่เพียงยื่นข้อร้องเรียนต่อดับบลิวทีโอ แต่ยังเปิดเผยว่า เกาหลีใต้มีแผนจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อ “แสวงหาความร่วมมือระดับประเทศ” เนื่องจากเห็นว่ามาตรการของญี่ปุ่น สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง

รายงานระบุว่า ข้อพิพาทของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากความไม่พอใจของฝ่ายญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลยุติธรรมในเกาหลีใต้มีคำตัดสินเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ให้นิปปอน สตีล และบริษัทอื่นๆของญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  การนำมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นมาใช้ในการส่งออกวัตถุดิบทั้ง 3 รายการถูกมองว่าเป็นการ “ตอบโต้” การกระทำของฝ่ายเกาหลี  โดยญี่ปุ่นได้จัดให้เกาหลีใต้ ออกไปอยู่นอก บัญชี “Whitelist” ที่มีอยู่ทั้งหมด 27 ประเทศ

 

บัญชี Whitelist หมายถึงประเทศที่ได้รับการยกเว้น หรืออยู่ “นอก” กฎเกณฑ์การจำกัดการส่งออกของญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องขอรับการอนุมัติทุกครั้งที่ต้องการซื้อสินค้าไฮเทคบางรายการจากญี่ปุ่น  ก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกเว้นนี้ แต่ปัจจุบัน เกาหลีใต้ถูกถอดสิทธิ์นั้นแล้ว และหากต้องการซื้อวัตถุดิบ 3 รายการข้างต้น ซัพพลายเออร์ในญี่ปุ่นก็ต้องยื่นเรื่องขออนุมัติทุกครั้งก่อนส่งออกให้กับผู้ซื้อในเกาหลีใต้ ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่า ญี่ปุ่นสามารถดึงเรื่องหรือถ่วงเวลาการพิจารณาเพื่อสร้างความยุ่งยากให้กับบริษัทเอกชนของเกาหลีใต้ที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบเหล่านี้ และจะก่อให้เกิดการสะดุดขัดในห่วงโซ่การผลิตสินค้าประเภทเซมิคอนดัคเตอร์และจอภาพ OLED รุ่นที่เริ่มการผลิตตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป   แต่บริษัทซัพพลายเออร์ของญี่ปุ่นเองก็จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากว่ามีโอกาสที่จะสูญเสียลูกค้ารายใหญ่เพราะซัมซุงและเอสเค ไฮนิกซ์ เป็นผู้ผลิต DRAM เมมโมรีชิปรายใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น