ทำไมต้อง “เธอ” คริสติน ลาการ์ด ว่าที่‘นายหญิง’คนแรกของ ECB

10 ก.ค. 2562 | 11:18 น.

เมื่อ “คริสติน ลาการ์ด” กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วัย 63 ปี ได้รับการเสนอชื่อโดยสภายุโรปให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คนใหม่แทนนายมาริโอ ดรากี ซึ่งกำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2562  หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็นหญิงเหล็กแห่งแวดวงการเงินคนนี้  หนึ่ง เพราะเธอเองไม่เคยมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ ECB มาก่อน (ต่างจากนายดรากีที่เป็นลูกหม้อ คลุกคลีอยู่เกือบ 8 ปี) สอง คือ เธอยังเหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟอีกราวๆ 1 ปี  สาม เธอเองเคยให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อปีที่ผ่านมา ว่าหากได้รับการเสนอตำแหน่งประธานอีซีบีให้ ก็จะขอปฏิเสธ

คริสติน ลาการ์ด

คริสติน ลาการ์ด เป็นชาวฝรั่งเศส ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองก่อนเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกองทุน IMF นั้น เธอเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศฝรั่งเศส การเข้ามาเป็นนายใหญ่ของ IMF ในปี 2554 ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะมากในการแสดงฝีมือ โดยลาการ์ดเป็นผู้มีส่วนช่วยให้วิกฤตการเงินของยุโรปคลี่คลายลงโดย IMF ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลกรีซจนสถานการณ์ดีขึ้นมาเป็นลำดับ นอกจากนี้ IMF ยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อาร์เจนติน่าได้ทันเวลาทำให้ภาวะวิกฤตของอาร์เจนติน่าไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆในละตินอเมริกา

 

ลาการ์ดสมัยเป็นรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นถึงคุณสมบัติที่เป็น ‘จุดแข็ง’ของลาการ์ดว่า เธอเป็นนักเจรจาต่อรองและนักประสานงานที่ดีเยี่ยม จึงเหมาะสมที่จะมารับตำแหน่งที่ต้องรับมือกับสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรปที่ประกอบด้วยผู้แทนจาก 25 ชาติยุโรป ต้องรับมือกับประเด็นการเงินการคลังของบรรดาประเทศสมาชิกซึ่งหมายรวมถึงรัฐบาล ‘เด็กแนว’ อย่างอิตาลี ที่เข้าขั้นหัวดื้อและไม่สนใจกฎกติกาของอีซีบีมากนัก นอกจากความเป็นนักประสานสิบทิศแล้ว ลาการ์ดยังได้ชื่อว่าเป็น ‘หญิงเหล็ก’ ที่พร้อมชนเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของชาติยุโรป การเข้ามาเป็นนายหญิงของอีซีบีในช่วงเวลานี้จึงนับว่าเหมาะเจาะมากที่เธอจะได้เข้ามารับมือกับมาตรการท้าตีท้าต่อยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา    

 

นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ดำรงตำแหน่งประธาน ECB ระหว่างปี 2546-2554 ให้ความเห็นสอดคล้องกับรัฐมนตรีคลังของหลายประเทศยุโรปที่ชูมือสนับสนุนนางลาการ์ดเป็นประธาน ECB คนต่อไป โดยเขามองว่าเธอมีประสบการณ์เป็นรัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศสและเป็นเอ็มดีของ IMF มาถึง 8 ปี เรียกว่าชั่วโมงบินในเส้นทางนี้ไม่เป็นที่ครหา ประสบการณ์ที่ผ่านมาถือว่าเธอครบเครื่องและเหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากๆ

 

เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่แค่นักการเมือง” เป็นอีกเสียงสะท้อนจากนายสดราฟโก มาริค รัฐมนตรีคลังโครเอเชีย   ที่สนับสนุนนางคริสติน ลาการ์ด ให้ดำรงตำแหน่งประธาน ECB คนต่อไป “ECB เป็นสถาบันที่มีความจำเพาะเจาะจงเฉพาะตัว  จำเป็นต้องใช้คนที่มีทักษะความชำนาญเพียบพร้อมจริงๆมาเป็นผู้บริหาร และผมมองว่าลาการ์ดคือคนที่มีคุณสมบัตินั้น” เป็นความเห็นของนายวิลิอัส ซาโปคา รัฐมนตรีคลังลิธัวเนีย เขายังมองว่า การเข้ารับตำแหน่งนี้ของคริสติน ลาการ์ด จะทำให้เกิด ‘ความต่อเนื่อง’ ในแง่การดำเนินนโยบายการเงินของ ECB แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่า เธอจะเข้ามาทำให้ปัญหาทุกอย่างที่มีอยู่หมดไป    

นายมาริโอ ดรากี ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง

หากจะพิจารณาจากการทำงานในช่วงที่ผ่านมาของนางลาการ์ดในฐานะสตรีเหล็กแห่ง IMF อาจจะกล่าวได้ว่าเธอเป็นผู้บริหารองค์กรการเงินระหว่างประเทศที่อยู่ในสายพิราบ (Dovish) เน้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเน้นคุมอัตราเงินเฟ้อ ลาการ์ดเคยเตือนธนาคารกลางหลักๆของโลกว่าอย่ารีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วจนเกินไป เพราะอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องสะดุด

 

เป็นที่คาดหมายว่า คณะมนตรียุโรป (EU Council) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอียูจะให้การรับรองการเข้ารับตำแหน่งประธาน ECB ของนางลาการ์ดในการประชุมครั้งต่อไปที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนที่วาระการดำรงตำแหน่งของนายมาริโอ ดรากี จะหมดลงในวันที่ 31 ตุลาคม 2562