พันธกิจแม่ทัพใหม่  ดัน CPF ขึ้นชั้น 1,000 บริษัทยักษ์ใหญ่โลก

10 ก.ค. 2562 | 06:12 น.

 

 

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ หนึ่งธุรกิจเรือธงของซีพีกรุ๊ป ได้ผลัดใบอีกครั้ง โดยคณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้งนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟคนใหม่ มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

 

เล็ง 8 แสนล้านใน 5 ปี

วันที่ 4 กรกฎาคม “ประสิทธิ์” เปิดตัวกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการพร้อมเผยถึงทิศทางการนำทัพบริษัทนับจากนี้ยังคงเดินหน้าสานต่อวิสัยทัศน์ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ในการเป็น “ครัวของโลก” อย่างเหนียวแน่น โดย 1 ในเป้าหมายสำคัญคือ การขับเคลื่อนบริษัทสู่ Global Firm หรือบริษัทระหว่างประเทศชั้นนำของโลก ซึ่งในปัจจุบันแม้ซีพีเอฟจะเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ของเมืองไทย มีขนาดธุรกิจมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมียอดขายกว่า 5.4 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่เทียบไซซ์กับบริษัทชั้นนำของโลกในทุกอุตสาหกรรมแล้วซีพีเอฟยังเป็นบริษัทที่อยู่ในอันดับมากกว่า 1,000 ของโลก (จากการจัดอันดับของ Forbes Global ปี 2560 ซีพีเอฟอยู่อันดับ 1,149 จาก 2,000 บริษัทชั้นนำของโลก)

พันธกิจแม่ทัพใหม่   ดัน CPF ขึ้นชั้น 1,000 บริษัทยักษ์ใหญ่โลก

พร้อมกันนี้เขายังมีเป้าหมายที่จะผลักดันรายได้ของซีพีเอฟในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (2562-2566) สู่ 8 แสนล้านบาทในปี 2566 หรือจากนี้รายได้จะขยายตัวปีละกว่า 10% โดยสัดส่วนรายได้จะมาจากกิจการในต่างประเทศสัดส่วน 75% และจากในประเทศ 25% จากปีที่ผ่านมาสัดส่วนอยู่ที่ 67:33 และบริษัทมีกำไรสุทธิ 15,531 ล้านบาท


 

 

ทำซํ้าธุรกิจใน 16 ปท.

สำหรับเส้นทางสู่เป้าหมายที่สำคัญคือจะใช้โมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของบริษัทแม่จากเมืองไทยได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ (Feed) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (Farm) และธุรกิจอาหาร (Food) ไปขยายหรือทำซํ้าในอีก 16 ประเทศที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนและขยายกิจการ (ได้แก่ จีน เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย ตุรกี กัมพูชา อังกฤษ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เบลเยียม โปแลนด์ บราซิล และศรีลังกา) โดยตั้งเป้าหมายปรับสัดส่วนธุรกิจ Feed-Farm-Food จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 42% 41% และ 17% ตามลำดับ เป็นสัดส่วนอย่างละเท่าๆ กัน โดยในทุกประเทศจะมุ่งสู่ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานเพื่อเสิร์ฟคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น

พันธกิจแม่ทัพใหม่   ดัน CPF ขึ้นชั้น 1,000 บริษัทยักษ์ใหญ่โลก

ประสิทธิ์  บุญดวงประเสริฐ

“ซีพีเอฟเราอาจใหญ่ในประเทศ มีไซซ์ธุรกิจ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่ผ่านมา ในธุรกิจอาหารสัตว์เราใหญ่สุดในไทย และน่าจะใหญ่สุดในอาเซียนและเอเชีย แต่ในระดับโลกในทุกอุตสาหกรรมรวมกันไซซ์ธุรกิจของซีพีเอฟยังอยู่อันดับที่พันกว่าของโลก โดยในธุรกิจเนื้อสัตว์คนที่ใหญ่กว่าเราคือบราซิล ซึ่งมี 2-3 บริษัทที่ใหญ่กว่าเราเยอะ เช่น JBS (บริษัทผู้ประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์รายใหญ่ของบราซิล) น่าจะใหญ่กว่าซีพีเอฟ 2-3 เท่า ยอดขายเขากว่า 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) บริษัท BRF (Brazil Food’s Global) ก็ใหญ่กว่าเรามาก”

ถามว่าวันนี้ทำไม JBS ของบราซิลถึงใหญ่มาก เพราะบราซิลเป็นประเทศที่ใหญ่ ต้นทุนการผลิตก็ตํ่ากว่าไทย เช่น ข้าวโพดอาหารสัตว์ของไทยอยู่ที่ 8-10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่ JBS ซื้อแค่ 4.50-5 บาท/กก. เพราะบราซิลทำเกษตรแปลงใหญ่มาก ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้นหากซีพีเอฟอยากจะเป็น Global Firm ก็ต้องหาวิธี ที่สำคัญคือการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารให้มากขึ้น โดยจะผลิตอาหารพร้อมรับประทานที่ตรงกับวัฒนธรรมของการบริโภคในแต่ละประเทศที่บริษัทมีฐานการผลิตอยู่

 

ขยายช่องทางจำหน่าย

ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายปัจจุบันซีพีเอฟมีสำนักงานขายอยู่ 19 แห่งทั่วโลก ที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าอาหารเครือซีพีเอฟเป็นหลัก จากนี้จะผลักดันให้เป็น Global Food Distribution คือสามารถสั่งซื้อสินค้าจากที่ใดก็ได้ที่เห็นว่าสามารถช่วยเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้บริษัท เช่นสำนักงานขายที่อังกฤษ สามารถสั่งซื้อสินค้าจากบราซิล ชิลี อุรุกวัย หรือโปแลนด์ได้ รวมถึงสามารถสั่งซื้อสินค้ากันเองระหว่างสาขาได้ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายการสินค้าและช่วยเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น

 

 

“ปัจจุบันซีพีเอฟมีคู่ค้า 3.3 หมื่นรายทั่วโลก ตัวอย่างเทสโก้ โลตัส ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษก็นับเป็น 1 ราย ซึ่งในจำนวน 3.3 หมื่นรายมีโครงข่ายที่เป็นร้านค้าปลีก 1.5 แสนจุด และร้านอาหาร 1.2 หมื่นจุด/โลเกชัน ในแต่ละสำนักงานในต่างประเทศ ณ ปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีคนท้องถิ่นเป็นผู้บริหาร ขณะที่เวทีงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นอีเวนต์ในการสร้างแบรนด์ มี 3 งานใหญ่ของโลก (ไม่นับรวมงานย่อยทั้งในต่างประเทศอีกจำนวนมาก) ที่ทางซีพีเอฟจะเข้าร่วมโชว์ศักยภาพ ได้แก่ งาน ANUGA ที่เยอรมนี งาน THAIFEX ในไทย และงาน CIIE ซึ่งเป็นงานนำเข้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3486 วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2562

พันธกิจแม่ทัพใหม่   ดัน CPF ขึ้นชั้น 1,000 บริษัทยักษ์ใหญ่โลก