ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

13 ก.ค. 2562 | 08:20 น.

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง หรือส่งผลกระทบแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น นโยบายทางธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแค่นโยบายสร้างภาพสวยหรูให้องค์กรไม่ได้ และแต่ละองค์กรธุรกิจต้องปฏิบัติจริง สร้างให้เกิดผลจริง เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ที่จะดำเนินต่อไปอย่างมั่นคงในระยะยาว

ล่าสุด ประเทศไทย โดยเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล AWEN ได้จัดประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยการหยิบยกประเด็นธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ประเด็นสำคัญของแผนการทำงาน AWEN ปี 2018-2020 ขึ้นมาพูดคุย โดย “คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล” ในฐานะประธานเครือข่ายฯ บอกว่า แผนงานทั้ง 7 ข้อ ถูกนำมาสู่การพัฒนาการวางแผนทางธุรกิจของผู้ประกอบการสตรีในภูมิภาคอาเซียน โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้ผู้ประกอบการสตรีในภูมิภาคอาเซียน ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ที่ให้ความสำคัญและใส่ใจกับธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ดร.สมจิณณ์ พิลึก” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เดินหน้าในเรื่อง Eco Industrial Town หรือ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” มาตั้งแต่ปี 2553 โดยนำหลักการ Circular Economy มาใช้ เพื่อนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดของเสีย หรือผลกระทบต่อระบบนิเวศ เน้นการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่ามากที่สุด สิ้นเปลืองทรัพยากรให้น้อยที่สุด กนอ. ได้มีการประเมินผลเพื่อให้การรับรองนิคมฯ ต่างๆ พัฒนาอยู่ในระดับ Eco Champion ใน 5 มิติ 22 ด้าน

ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน “เกศรา มัญชุศรี” อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เน้นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG นั่นก็คือ  Environmental-สิ่งแวดล้อม, Social -สังคม และ Governance- มีธรรมาภิบาล โดยทุกๆ ปี จะมีการเปิดเผยข้อมูล รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report เกี่ยวกับกลยุทธ์ แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าเงินลงทุนจะสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาวนั่นเอง 

ตัวแทนของสมาคมสตรีจากประเทศเมียนมา พูดถึงการจัดทำระบบ Solar System ใช้เป็นพลังงานภายในประเทศ และล่าสุดรัฐบาลเมียนมา ยังได้ลงนามความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนข้ามชาติ สร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ ซึ่งจะลดการปล่อยมลพิษด้วยเทคโนโลยีใหม่และสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศอย่างต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันเมียนมาใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติเป็น 1 ใน 3 จากพลังงานทั้งหมด

ส่วนตัวแทนผู้ประกอบการสตรีกัมพูชา “เอลิดา คิมสรัน” ผู้บริหาร Camcona Trading บอกว่า จากการทำธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และ Rinnai เครื่องทำนํ้าร้อนจากก๊าซธรรมชาติ สามารถช่วยให้ลูกค้าลดการใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าลงได้เท่าตัว และยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนฯได้อีกด้วย การทำธุรกิจจะมองเพียงแค่ผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้วผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับชุมชนและปรับปรุงสภาพแวดล้อมไปพร้อมๆกันด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยถึงผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการไทยที่น่าสนใจ ด้วยการนำนวัตกรรมมาต่อยอดของเหลือจากการผลิต จนเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยลดของเสียได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ “ยูเอ็นซี” อาหารเสริมประเภทแคลเซียม ที่นำก้างปลา ที่เหลือจากการผลิตลูกชิ้นปลา มาพัฒนาจนได้รับรางวัลธุรกิจที่นำของเหลือใช้มาสร้างผลิตภัณฑ์แคลเซียมที่ดีที่สุดในโลก (Business No Waste Model) 

“พาเนล พลัส” ผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนไม้ จากบริษัทในเครือมิตรผล ที่นำเอาชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตนํ้าตาล และไม้ยางพาราที่ไม่สามารถให้นํ้ายางได้มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด 

 

ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

“Zero Moment Refillery” ธุรกิจสตาร์ตอัพน้องใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่นำไอเดียธุรกิจรักษ์โลก ลดการสร้างขยะจากบรรจุภัณฑ์และของเหลือใช้ ด้วยการให้ลูกค้านำภาชนะ หรือ บรรจุภัณฑ์มาเติมเองได้ ในปริมาณที่ต้องการ ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน อาทิ สบู่ แชมพู เครื่องปรุง ของแห้ง ซอส นํ้ามัน เส้นพาสต้าชา กาแฟ เป็นต้น นับว่าเป็นธุรกิจที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และสร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากมุมมองของผู้ร่วมประชุม และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทย ทำให้เห็นได้ว่า ขณะนี้ ใกล้หมดยุคของการทำธุรกิจที่เน้นแต่ผลกำไร โดยไม่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แล้วจริงๆ

 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม