2ยักษ์พลังงานขู่ฟ้องอนุญาโตฯ ยื้อค่ารื้อถอนแสนล้าน

10 ก.ค. 2562 | 23:00 น.

เชฟรอนผนึกโททาล ส่งโนติซ ถึงกระทรวงพลังงาน ขู่ฟ้องอนุญาโต ตุลาการ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกสั่งให้จ่ายค่ารื้อถอนแท่นผลิตทั้งหมด หลังสิ้นอายุ 

กำลังจะกลายเป็นเผือกร้อน รับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เมื่อบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ที่พ่ายแพ้การประมูลปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และบริษัท โททาล ยักษ์ใหญ่นํ้ามันฝรั่งเศส ในฐานะผู้ถือหุ้นในแหล่งก๊าซบงกช 33.3% ทั้ง 2 แหล่งนี้จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งจะต้องส่งมอบสินทรัพย์ทั้งหมดคืนให้กับรัฐ ได้ส่งหนังสือถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงอันใกล้นี้ เพื่อขอหารือข้อกฎหมาย ในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม

 

วางหลักประกันแสนล.

ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 รายดังกล่าวเห็นว่า ข้อกฎหมายที่กำหนดให้ต้องจ่ายค่ารื้อถอนและหลักประกันในการรื้อถอนทั้งหมดนั้น มีมูลค่าสูงถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย อีกทั้ง เชฟรอนมองว่า จำนวนแท่นผลิตที่ต้องส่งมอบคืนให้กับรัฐนั้น ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ต่อให้กับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ที่ชนะประมูลแหล่งเอราวัณ โดยไม่ต้องรับภาระการรื้อถอนแต่อย่างใด

ขณะที่กระทรวงพลังงานเอง ถือว่าได้ทำตามขั้นตอนของกฎกระทรวง โดยที่ผ่านมาได้มีการหารือกันเป็นระยะแต่ไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากทั้ง 2 ราย ไม่ยอมที่จะจ่ายค่ารื้อถอนและวางเงินเป็นหลักประกันในการรื้อแท่นผลิตของแหล่งเอราวัณราว 200 แท่น และแหล่งบงกชราวกว่า 100 แท่น พร้อมสิ่งติดตั้ง หรือต้องใช้เงินวางเป็นหลักประกันรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท

 

สัญญาไม่มีระบุให้ต้องจ่าย

แหล่งข่าวจากวงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น จากสหรัฐอเมริกา และบริษัท โททาล ของฝรั่งเศสได้ส่งหนังสือมายังนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอหารือในข้อกฎหมาย เกี่ยวข้องกับแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 นี้ หลังจากที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีหนังสือส่งไปยังเชฟรอน ให้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนการรื้อถอน รวมถึงประมาณค่าใช้จ่ายในการรื้อแท่น และการวางเงินเป็นค่าหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตที่แหล่งเอราวัณมีอยู่กว่า 200 แท่น คิดเป็นค่าหลักประกันราว 75,000 ล้านบาท ส่วนของแหล่งบงกช จะมีอยู่กว่า 100 แท่น คิดเป็นมูลค่าหลักประกันราว 30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการไม่ยุติธรรม เพราะในสัญญาสัมปทานข้อ 15(4) ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำกันตั้งแต่ปี 2515 เป็นข้อตกลงและพันธะระหว่างกัน ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม  ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องให้กับรัฐบาลไทย โดยไม่คิดมูลค่า ส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์มิได้ ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนตามที่รัฐมนตรีสั่ง การที่กระทรวงพลังงานออกกฎกระทรวง เกี่ยวกับการกําหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 เป็นการออกกฎหมายภายหลัง ไม่มีผลบังคับย้อนหลัง และรัฐบาลไม่เคยขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกมาในภายหลัง ดังนั้นจึงไม่มีผลบังคับใช้กับคู่สัญญา

 

ยื่นโนติซจ่อฟ้องอนุญาโตฯ

อีกทั้งการที่ต้องมาวางหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตทั้งหมด ทั้งที่แท่นผลิตจำนวนหนึ่งที่รัฐเก็บไว้ถูกนำไปให้ปตท.สผ.ดำเนินงานต่อ โดยไม่ต้องแบกรับภาระการรื้อถอน ถือเป็นการยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งหนังสือที่ส่งไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานครั้งนี้ ถือเป็นการยื่นหนังสือเตือน (โนติซ) หากการเจรจากับภาครัฐไม่ได้ข้อยุติ ก็จะมีการยื่นเรื่องให้อนุญาโตตุลากการเป็นผู้พิจารณา

“ท่าทีของเชฟรอน ไม่ต้องการวางเงินค่าหลักประกันการรื้อถอนที่มีมูลค่าสูงจากจำนวนแท่นที่ต้องส่งคืนรัฐทั้งหมด และรัฐจะนำแท่นส่วนหนึ่งไปใช้ต่อ ถึงว่าไม่ยุติธรรมที่ให้ผู้สัมปทานรายเดิมต้องแบกรับภาระทั้งหมด”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

● ปตท.สผ.ดัมพ์ราคาก๊าซ 116 บาท/ล้านบีทียู ชนะเชฟรอนทั้งแหล่งเอราวัณ-บงกช

 

● 'เชฟรอน' ผิดหวังแพ้ประมูลเอราวัณและบงกช

 

● ปตท.สผ. กำ 1.2 แสนล้าน จ่อซื้อ "เชฟรอนไทย" ยกพวง

 

● ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

 

● ผวาเชฟรอน ปลดพันคน แห่ซบปตท.

 

● สหรัฐฯ ย้ำความร่วมมือไทย ยัน”เชฟรอน”ไม่ถอนการลงทุน

 

● กางพ.ร.บ.ปิโตรเลียม  อยู่เหนือสัญญาสัมปทาน

 

● รัฐลั่นเก็บค่ารื้อถอนแสนล้าน2ยักษ์พลังงาน

 

 ‘กุลิศ’ท้าชน ยักษ์เชฟรอน ค่า‘รื้อแท่น’

 

2ยักษ์พลังงานขู่ฟ้องอนุญาโตฯ ยื้อค่ารื้อถอนแสนล้าน