อาณาจักร SGMWสู่เวิลด์คลาส แบบไม่ลืมรากเหง้า

13 ก.ค. 2562 | 04:00 น.

 

 
 
 
“โรงงานเราเต็มไปด้วยเอ็นจิเนียร์ เพราะเราคือ
มหาวิทยาลัยทางรถยนต์”

 

นี่คือคำทักทายและคำตอบแรกของ ไมค์ เดอเวอเรอซ์ Executive Vice President ของ SGMW กรุ๊ป ที่พูดเปิดฟลอร์กับคณะสื่อมวลชนไทยภายในห้องประชุมเล็กๆของตึกเก่าแก่ SGMW ณ เมืองหลิ่วโจว ประเทศจีน หลังจากพวกเราสงสัยขณะนั่งรถเข้ามาว่าทำไมโรงงานแห่งนี้ตึกอาคารจึงเหมือนมหาวิทยาลัยมากกว่าโรงงานรถยนต์

จากนั้นไมค์ก็ค่อยๆ ฉายภาพของตัวเขาที่ทำงานกับ GM มา 35 ปี ผ่านมาแล้วทั้งแคนาดา สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง ก่อนขยับมาบริหาร SGMW ที่แดนมังกรได้กว่า 2 ปี ซึ่งทำให้เขาต้องปรับตัวและทำความเข้าใจใหม่ว่าเขาไม่ได้ถูกส่งมาบริหารบริษัทกิจการร่วมค้า หรือ จอยต์เวนเจอร์ เหมือนที่อื่นๆ เพราะที่นี่มีวัฒนธรรมที่ต่างออกไป

อาณาจักร SGMWสู่เวิลด์คลาส แบบไม่ลืมรากเหง้า

ไมค์ เดอเวอเรอซ์

 

“ที่นี่มีเรื่องเล่าขานและมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง จึงเป็นมากกว่าการดูแลบริษัทจอยต์เวนเจอร์ทั่วไป”

ข้อได้เปรียบจากประสบการณ์ 35 ปี ทำให้เขา “เข้าใจตลาดประเทศไทย” มากพอที่จะกล้าส่งเชฟโรเลตแคปติวา รุ่นล่าสุด ที่ออกแบบโดย SGMW ไปขายที่ไทยในเดือนกันยายนนี้

ฟังแล้วบางคนอาจจะร้องยี้กับเทคโนโลยีรถยนต์จีน ที่เชื่อเถอะว่าต้องปฏิวัติเมโมรีความจำใหม่ ว่าเทคโนโลยีจีนวันนี้ต่างจากอดีตหลายเท่า ว่ากันว่าคุณเห็นเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนรุ่นดังก้าวไปไกลขนาดไหน รถยนต์จีนก็ไปไกลไม่แพ้กัน

จริงๆ แล้ว SGMW เริ่มรวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2002 ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจาก GM บริษัทแม่ ผนึกกำลังกับ SAIC และ Guangxi Automotive Group เจ้าถิ่นที่นี่ จนมีเทคโนโลยีไม่แพ้ใคร 

อาณาจักร SGMWสู่เวิลด์คลาส แบบไม่ลืมรากเหง้า

SGMW ภายใต้สัดส่วนการถือหุ้น SAIC50.1% GM 44% และ Guangxi Automotive Group 5.9%

ที่นี่มีตำนานรถแทรกเตอร์มาตั้งแต่ 1958 กับยี่ห้อ Wuling ที่เกษตรกรคุ้นเคยกันดี จนถึงมาถึงรถบรรทุกเล็ก และรถแวน ปัจจุบัน กับ ยี่ห้อ Baojun ที่ผลิตรถหลายรุ่นออกมาตีตลาดจีนและตลาดโลกในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะรีแบรนด์เปลี่ยนโลโกเป็น New Baojun ส่วนที่กำลังฮอตฮิตในหลิ่วโจว คือเจ้ารถพลังงานไฟฟ้า หรือ EV รุ่น E100 และ E200 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆในด้านมาตรการภาษี และมาตรการอื่นๆ ซึ่งแว่วว่าเจ้า E200 กำลังซุ่มยัดเทคโนโลยี 5G เข้าไปอยู่ในรถจิ๋วคันนี้

ผู้บริหาร SGMW เล่าต่อไปว่า บริษัทของเขาสามารถผลิตรถยนต์ได้ 2.4 ล้านคนต่อปี ภายใต้พนักงานประมาณ 2.5 หมื่นคน ด้วยโรงงานขนาดใหญ่ 5 แห่ง โดยมี BAOJUN Base เป็นกำลังหลัก แม้จะเน้นการลดต้นทุนแต่ก็ยังคงมาตรฐานและความปลอดภัยของ GM ทุกประการ ดังนั้นวิธีการลดต้นทุนจึงไม่ใช่การลดคุณภาพสินค้า แต่คือการบริหารต้นทุน โดยใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์ จึงไม่แปลกว่าขณะที่คณะสื่อเดินชมโรงงานจะเห็นหุ่นยนต์ทำหน้าที่ขนเบาะรถยนต์ไปยังสายพานนำสู่การประกอบแทนที่จะเป็นคนอย่างเราๆ คอยแบกหาม

ไมค์ฉายภาพใหญ่ขึ้นว่า ที่ประเทศจีนเป็นตลาดที่แข่งขันสูงมาก และแนวโน้มสูงในแง่ของการผลิตรถยนต์ให้เป็นเวิลด์คลาสที่คุณภาพ และยอดขายพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แม้ว่าคาดการณ์ปีนี้ก็จะลดลงเช่นกัน ปี 2017 SGMW ขายรถได้ 28 ล้านคัน ปี 2018 ขายได้ 25 ล้านคน และคาดว่าปีนี้จะขายได้ 26 ล้านคัน

อาณาจักร SGMWสู่เวิลด์คลาส แบบไม่ลืมรากเหง้า

“เราคิดกระทั่งว่าโชว์รูมต้องทันสมัย ต้องรู้ให้ได้ว่าทำไมลูกค้ายืนจุดไหนเวลานาน หรือ ยืนแป๊บเดียวเพราะอะไร”

แต่แน่นอนว่าหัวเดียวกระเทียมลีบอย่างไมค์คนเดียวคงไม่สามารถขยับองค์กรใหญ่วัฒนธรรมเก่าแก่ได้ลำพัง ไมค์จึงเล่าว่า “สิ่งที่ผมทำคือการทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์ของเขา เพื่อให้ช่วยกันคิดว่าทำยังไงเราจะโมเดิร์น มากขึ้น”

จากนั้นช่วงสรุปของการพบปะวงเล็ก จึงปิดท้ายด้วยการถ่ายภาพหมู่ ที่ไมค์ถามคณะสื่อไทยว่าให้ทายว่าเป็นภาพใคร ต่างก็เดาไปต่างๆนาๆ คำตอบที่เฉลยออกมาคือ ภาพของอดีตผู้บริหารของ SGMW กรุ๊ปทุกบริษัทตั้งแต่ปี 1958 ที่ยังมีชีวิตอยู่กับชุดปัจจุบัน ที่จะพบปะกันและให้คำแนะนำกันและกัน

เป็นการตอกยํ้าว่าบริษัทให้ความสำคัญกับรากเหง้าและทุกคนในบริษัท  

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562