วิศวะฯธรรมศาสตร์รุกAI

09 ก.ค. 2562 | 04:46 น.

     ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามาคุกคามปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้งาน ซึ่งถูกพัฒนาให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น เห็นได้จากในตอนนี้ 7-Eleven กำลังทดลองสาขาที่ไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงิน เดินเข้ามาหยิบสินค้าไปได้เลย ตัดเงินอัตโนมัติผ่าน All Member 
    บรรดาผู้ประกอบการกำลังปักธง AI ส่วนทางด้านสถาบันการศึกษาได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกันมีการเปิดหลักสูตรเฉพาะเจาะจงอีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนนั่นก็คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้พัฒนา 5 นวตกรรม AI ออกมาสู่ตลาดแล้ว
    ไล่เลียงตั้งแต่   “หนูขออ่าน” ตัวช่วยสถานพยาบาล ยกระดับการให้บริการสาธารณสุข สามารถคัดกรองเด็กที่มีความบกพร่องได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ซึ่งใช้เวลาตรวจคัดกรองเพียง 30 นาที และได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำถึงร้อยละ 95 โดยนวัตกรรมนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานในสถานพยาบาลให้มีความคล่องตัว และช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงการดูแลที่เหมาะสม อีกทั้งยังส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีพัฒนาการที่สมวัยอีกด้วย
วิศวะฯธรรมศาสตร์รุกAI

      แอปพลิเคชันตรวจกระเป๋าโดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก (Deep Neural Network) ในการตรวจจับรูปแบบและริ้วรอยบนโลโก้ของกระเป๋า รวมถึงวัสดุที่ใช้ด้วยวิธีง่ายๆ ใน 2 ขั้นตอน คือ “ถ่ายภาพโลโก้กระเป๋าต้องการตรวจ” แล้ว “กดประมวลผล” ใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาที โดยผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ด้านซอฟแวร์คอมพิวเตอร์จากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 44 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

วิศวะฯธรรมศาสตร์รุกAI

        แพลตฟอร์มเอไอ “เอสซิท” (SCIT) ที่สามารถใช้งานได้กับรถยนต์ทุกรุ่น โดยมีระบบแจ้งเตือนพฤติกรรมผู้ขับขี่เมื่อง่วงนอน คุยโทรศัพท์ ขับส่ายไปมา ไม่อยู่บนเส้นทาง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และยังสามารถตรวจจับแรงกระแทกจากการชน ซึ่งจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออัตโนมัติทันทีผ่านเทคโนโลยีไอโอที (IoT) เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ทำให้เอสซิทได้รับรางวัลเหรียญทอง ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

วิศวะฯธรรมศาสตร์รุกAI


 

        นำโดรนมาช่วยสำรวจโครงสร้างของโบราณสถาน ที่ประยุกต์กับความรู้ทางด้านวิศวกรรรมโยธา เพื่อตรวจสอบความแข็งแรง รอยร้าว การเอียง และการทรุด ซึ่งนำภาพที่ได้จากโดรน ไปประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์  (Visual Inspection) เพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติ  และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาช่วยตรวจจับความผิดปกติของโครงสร้าง และสร้างแผนที่ความเสียหายได้อัตโนมัติ ซึ่งวิศวกรสามารถนำแบบจำลองที่ได้ ไปตรวจสอบประเมินความเสี่ยงและหาแนวทางปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป โดยงานวิจัยดังกล่าว ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปี 2561 อีกด้วย
วิศวะฯธรรมศาสตร์รุกAI

       แบบจำลองเอไอคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ได้ออกแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างแบบจำลองการพยากรณ์ฝน ที่สามารถคาดการณ์ปริมาณฝนในแต่ละพื้นที่ได้แบบรายปี ซึ่งนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออก รองรับการเติบโตของอีอีซี ซึ่งพื้นที่กล่าวมีข้อจำกัดคือส่วนใหญ่ยังอยู่นอกระบบชลประทาน มีเพียงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ที่อาจจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการใช้น้ำในบางช่วงได้ ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวจะแสดงผลเป็นปริมาณน้ำฝนเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย เพื่อนำข้อมูลไปใช้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยได้รับรางวัล Special Prize จากราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ในการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

วิศวะฯธรรมศาสตร์รุกAI