จับตา! ดัน “มาบตาพุดเฟส3” เข้าครม.

09 ก.ค. 2562 | 00:56 น.

จับตา เสนอครม. พิจารณาอนุมัติ โครงการมาบตาพุดเฟส 3 เคาะผ่านเพื่อลงนามสัญญาให้ทันเดือนก.ค.นี้

 

วันนี้(9ก.ค.) เวลา 09.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล โดยภายหลังการประชุม คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คาดว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการเสนอขออนุมัติโครงการลงทุนท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดย ปตท. ในนาม บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บริษัทลูก ร่วมลงทุนกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หลังจากนั้นจะลงนามสัญญากับการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการลงนามให้ได้ภายในเดือนก.ค. ก่อนที่จะครม.ชุดนี้จะหมดวาระ

จับตา! ดัน “มาบตาพุดเฟส3” เข้าครม.

ทั้งนี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า คาดว่าที่ครม.จะอนุมัติโครงการลงทุนท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาต่อไป เพราะตามหลักการแล้วน่าจะเข้าครม.ไม่น่าจะมีอุปสรรคอะไร ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการที่รัฐอยากให้เกิดอยู่แล้ว

 

ซึ่งการเสนอนำมาบตาพุดเฟส 3 เสนอเข้าพิจารณาในครม.อีกครั้ง หลังจาก เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.62 การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 6/2562 ที่มีพลเอกประยุทธ์ เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 และอนุมัติผลการคัดเลือก ผลการเจรจา และให้กรรมการพิจารณาร่างสัญญาที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และให้ความเห็นกลับมาภายในวันที่ 1 ก.ค. 2562  ก่อนนำเสนอให้ครม.และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ภายในเดือน ก.ค. 2562  ทั้งนี้ โครงการฯ ได้ผ่าน EIA แล้ว โดย สผ. จะนำเสนอให้ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป หลังจากนั้นการนิคมอุตสาหกรรมจะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนเพื่อบริหารจัดการถมทะเลได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยให้เอกชนเข้าร่วมทุน เป็นการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (สินค้าด้านปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มอีก 19 ล้านตันต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า