เอกชนหวั่นศก.น็อก‘ลงทุน-ใช้จ่าย’ไม่เกิด

09 ก.ค. 2562 | 23:45 น.

สศค.เตรียมลดประมาณการจีดีพีจาก 3.8% สิ้นเดือนนี้ หลังตัวเลข 5 เดือนออกมาไม่ดี ด้านเอกชนจี้ รัฐใหม่เข็นอุปสงค์ในประเทศ ทั้งเร่งสร้างเชื่อมั่นดึงเอกชนลงทุน ประคองรายได้ครัวเรือนและภาคเกษตร เหตุอุปทานโลกยังเผชิญปัญหาเยอะ

ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่เป็นปัจจัยหลักในการฉุดรั้งปริมาณการค้าโลก แม้จะดูเหมือนว่า สามารถหาข้อสรุปได้ในการประชุม G20 ที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายก็มองว่า เป็นเพียงการพักรบชั่วคราวเท่านั้น เพราะคาดว่าสหรัฐฯจะยังเก็บภาษีกับสินค้ามูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากจีนในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จึงดับฝันภาคส่งออก 

ขณะที่ความหวังที่จะให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินนโยบายดูแลการค้าและเศรษฐกิจอาจจะล่าช้าเกินไป เพราะผ่านไปแล้ว
กว่า 3 เดือนหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ ทำให้ช่วงนี้จะเห็นว่า ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างพร้อมใจปรับลดประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ทั้งปีลง รวมทั้งเป้าการส่งออกที่เดิมมองว่าจะไม่ขยายตัว แต่ล่าสุดหลายสำนักเริ่มมองอัตราติดลบกันบ้างแล้ว

เอกชนหวั่นศก.น็อก‘ลงทุน-ใช้จ่าย’ไม่เกิด

ลวรณ แสงสนิท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจที่ออกมาใน 5 เดือนแรกไม่ดีนัก ตัวที่ตกหนักที่สุดคือ การส่งออก ขณะที่การลงทุนในประเทศเองยังตํ่ากว่าตัวเลขที่ต้องการเห็นมาก ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเองก็ทำเต็มที่ตามกรอบงบประมาณ จึงเหลือเพียงการบริโภคในประเทศตัวเดียวที่เป็นตัวประคับประคองเศรษฐกิจในขณะนี้ และต้องรอดูตัวเลขเดือนมิถุนายนอีกครั้งก่อนที่สศค.จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จากที่เคยมองไว้ที่ 3.8%   

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย บมจ.ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า หวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการที่่สำคัญออกมาในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะมาตรการประคองการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน โดยเร่งทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับแผนที่รัฐบาลจะเดินหน้าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในโครงการขนาดใหญ่ควบคู่กับการใช้มาตรการจูงใจทางการค้าจากกระแสเคลื่อนย้ายการลงทุน เพราะถูกกีดกันทางการค้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีมาตรการทางภาษี

 

เอกชนหวั่นศก.น็อก‘ลงทุน-ใช้จ่าย’ไม่เกิด

สำหรับในประเทศ รัฐบาลควรมีมาตรการประคองมากกว่ากระตุ้น เพราะในภาวะที่ครัวเรือนมีภาระค่อนข้างสูงอยู่แล้ว จึงไม่ควรกระตุ้นให้คนมีภาระเพิ่ม ภาครัฐน่าจะมีมาตรการประคอง เพื่อลดการเผชิญปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า ขณะเดียวกันให้เน้นกลุ่มธุรกิจที่มีกิจกรรมผูกโยงกับการส่งออกหรือท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในวงกว้างโดยอาจมีมาตรการประคองในช่วงที่เหลือให้ภาคธุรกิจอยู่ได้

ส่วนเศรษฐกิจฐานรากนั้น จะต้องประเมินสถานการณ์ แนวโน้มรายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้นจากราคาปาล์มและยางที่ได้รับการแก้ไขในเบื้องต้นว่า จะมีปัญหาในวันข้างหน้าหรือไม่ เนื่องจากอุปทานในโลกที่ยังมีปัญหาค่อนข้างมาก หากมองไปข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอ คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งจะเห็นว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร จะมาทั้งจากนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลและรัฐบาลเอง ดังนั้นจึงน่าจะเห็นการประคองรายได้เกษตรกรและประชาชนฐานรากในระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ เชื่อว่ารัฐบาลจะทำโครงการนี้ต่อไปในอนาคต

 

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทยกล่าวว่า รัฐบาลควรดูแลบริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทขนาดใหญ่สามารถทำธุรกิจต่อได้ประกอบกับมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก(อีอีซี)เข้ามารับช่วงความต่อเนื่องในการลงทุน ส่วนกลุ่มฐานราก รัฐบาลได้เข้าไปแก้ปัญหาราคาปาล์มหรือราคายางพาราให้ดีขึ้น แต่แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่ามากจะกระทบการส่งออกข้าวให้ลดลง ซึ่งรายได้ภาคเกษตรครอบคลุมครัวเรือน 20 ล้านครัวเรือน จึงมองว่า รายได้ภาคเกษตรจะทรงตัวไม่แย่มาก

ในส่วนของผู้ประกอบการขนาดเล็ก smes ยังรอมาตรการส่งเสริมอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการประคองเพื่อให้ผู้ประกอบการ smes มีโอกาสเติบโตแบบซัพพลายเชนและมีอีโคซิสเต็ม ซึ่งลูกจ้างผู้ประกอบการ smes มีแนวโน้มยากลำบาก และยังมี
นโยบายที่จะเพิ่มค่าแรงขั้นตํ่า โดยยังไม่รู้ว่าจะกระทบภาค SMEs ขนาดไหน หรืออาจทำให้ผู้ประกอบการ SMEs อยู่ไม่ไหวไปไม่รอด ดังนั้นจึงต้องดูทั้งในส่วนของฐานนายจ้างและฐานลูกจ้างที่มีรายได้ด้วย ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ปัจจุบันถือว่า ค่าจ้างส่วนใหญ่เกินค่าแรงขั้นตํ่าไปแล้ว

“โจทย์รัฐบาลใหม่มี 2 ส่วนคือ ทำอย่างไรให้บริษัทมั่นใจและพร้อมที่จะลงทุน ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีและสัญญาณสงครามทางการค้ามีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ถ้าการลงทุนของภาคเอกชนไม่เกิดอาจจะน็อกได้ ขณะที่การบริโภคและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอลง โดยยอมรับว่า รัฐบาลใหม่จะต้องเหนื่อยทั้งภาคเอกชนและผู้บริโภคยังระมัดระวังมากขึ้น เพราะความเชื่อมั่นยังไม่มา ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ย่อมทำให้ช่องว่างที่เหลือใช้จ่ายลดลง” 

 

หน้า19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,485 วันที่ 7 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562