โป๊ะแตก! อิหร่านหลุดรับเป็นเจ้าของเรือน้ำมัน หลังเรียกทูตอังกฤษเข้าพบ

05 ก.ค. 2562 | 10:18 น.

หลังจากที่รัฐบาลยิบรอลตาร์ ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ในจุดใต้สุดของคาบสมุทรไอบีเรีย ในบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่การท่าเรือ ตำรวจท้องถิ่น และกองทัพเรืออังกฤษ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสกัดและกักเรือบรรทุกน้ำมัน  “เกรซวัน” (Grace) ที่ต้องสังสัยว่ากำลังละเมิดมติของสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยการบรรทุกน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านมุ่งหน้าไปส่งมอบให้กับประเทศซีเรีย ที่ถูกอียูประกาศคว่ำบาตรมาตั้งแต่ปี 2554  กระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านก็ได้เรียกนาย ร็อบ แมคแคร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเตหะรานเข้าพบ เพื่อประท้วงการกระทำของอังกฤษและยิบรอลตาร์ ซึ่งเป็นประเทศเครือจักรภพอังกฤษ ว่าการสกัดและยึดเรือของอิหร่านเอาไว้ถือเป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” และ “ไม่อาจยอมรับ” ได้  

เรือเกรซวันจดทะเบียนเป็นเรือสัญชาติปานามา

การที่อิหร่านเรียกทูตอังกฤษเข้าพบในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการยืนยันข้อสันนิษฐานที่ว่า เรือเกรซวันเป็นเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่าน เนื่องจากเรือดังกล่าวจดทะเบียนเป็นเรือสัญชาติปานามา และมีบริษัทในประเทศสิงคโปร์บริหารจัดการอยู่  ทางการยิบรอลตาร์แถลงข่าวในวันที่สกัดจับเรือเกรซวันเอาไว้ โดยระบุว่า มีเหตุผลเพียงพอที่ทำให้เชื่อได้ว่า เรือลำนี้บรรทุกน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านมุ่งหน้าไปยังโรงกลั่นน้ำมันในประเทศซีเรีย โรงกลั่นแห่งนี้เป็นสินทรัพย์ของบริษัทท้องถิ่นที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำของอียู  นับเป็นครั้งแรกที่มีการสกัดจับเรือบรรทุกน้ำมันของต่างชาติที่มุ่งหน้าสู่ซีเรีย นับตั้งแต่ที่อียูประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554

ทางการยิบรอลตาร์สนธิกำลังกับทัพเรืออังกฤษสกัดเรือบรรทุกน้ำมันเกรซวัน
 

นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การกระทำของอังกฤษถือเป็นข่าวที่เยี่ยมยอด สหรัฐฯและพันธมิตรอย่างอังกฤษ จะเดินหน้าป้องกันไม่ให้รัฐบาลอิหร่านและซีเรีย หาประโยชน์จากการค้าขายที่ผิดกฎหมายได้อีก ทั้งนี้ หลักฐานของยิบรอลตาร์ชี้ว่า เรือเกรซวันพยายามปกปิดเส้นทางการเดินเรือ โดยมีการปิดใช้งานระบบระบุพิกัดเส้นทางเดินเรือเป็นพักๆ และใช้เส้นทางอ้อมเพื่อไม่ต้องผ่านช่องแคบสุเอซ ที่ซึ่งจะต้องมีการถ่ายโอนน้ำมันและหากเป็นเช่นนั้น น้ำมันจากอิหร่านอาจถูกตรวจพบและถูกกักเร็วขึ้นไปอีก

 

ก่อนหน้านี้ อียูพยายามรักษาสถานะความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากนักเมื่อสหรัฐฯเปิดฉากเผชิญหน้ากับอิหร่านตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา แต่การที่รัฐบาลยิบรอลตาร์ในเครือจักรภพอังกฤษ ออกหน้าสกัดจับเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปยังอิหร่าน ซีเรีย รวมทั้งสหรัฐฯ ว่าอียูเอาจริงกับมาตรการคว่ำบาตรและพร้อมมีบทบาทในเกมอันตรายที่อิหร่านกำลังเล่นอยู่ (ในการเจรจายุติโครงการนิวเคลียร์)    

 

ทั้งนี้ นอกจากอียูจะคว่ำบาตรรัฐบาลเผด็จการของซีเรียแล้ว อิหร่าน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของซีเรีย ยังถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกา คว่ำบาตรไม่ให้ส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกหลังจากที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงยุติการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อปีที่ผ่านมา