BIS หนุนธนาคารกลาง ออกเงินดิจิทัล แข่งบิ๊กไฮเทค

03 ก.ค. 2562 | 07:10 น.

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ออกมายอมรับว่า ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจที่จะออกสกุลเงินดิจิทัลมาใช้อย่างเป็นทางการ โดยความสนใจที่ว่านี้ได้รับการกระตุ้นจากความเคลื่อนไหวของบริษัท เฟซบุ๊ก ยักษ์ใหญ่ในโลกโซเชียล มีเดียจากสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาประกาศเมื่อเร็วๆนี้ (18 มิ.ย.)ว่า บริษัทมีแผนจะออกเงินดิจิทัลสกุล “ลิบรา” (Libra) มาใช้ในปีหน้า

 

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เป็นธนาคารสำหรับธนาคารกลาง ตั้งอยู่ในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่รับฝากเงินหรือให้บริการกับบุคคลและองค์กรภายนอกโดยทั่วไป แต่มีบทบาทสำคัญเป็นเวทีในการส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทางการเงิน นอกจากนี้ BIS ยังมีคณะทำงานที่สนับสนุนข้อมูล และเสนอแนะนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการหารือเพื่อกำหนดมาตรฐานสากล มีการประชุมระดับผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศสมาชิกเป็นประจำทุก 2 เดือน ในประเด็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกและพัฒนาการของตลาดการเงิน และการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินโลก

BIS หนุนธนาคารกลาง ออกเงินดิจิทัล แข่งบิ๊กไฮเทค

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา BIS ได้เผยแพร่รายงานประจำปี ซึ่งเนื้อหาบทหนึ่งจากทั้งหมดที่มีอยู่ 4 บท ได้กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีสำคัญในโลกการเงินยุคปัจจุบัน นายอากุสติน คาร์สเท็น ผู้อำนวยการใหญ่ของ BIS ยังเปิดเผยด้วยว่า BIS กำลังทำงานร่วมกันใกล้ชิดกับธนาคารกลางของหลายประเทศที่กำลังพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตัวเองอยู่ในเวลานี้ “มีหลายประเทศที่กำลังทำเรื่องนี้ (การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล) และ BIS ก็กำลังทำเรื่องนี้อยู่ เราให้ความสนับสนุนประเทศเหล่านี้ ตลาดสำหรับสกุลเงินดิจิทัลอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดคิดกันไว้ เราจึงจำเป็นต้องมีสกุลเงินดิจิทัลเอาไว้รองรับบรรดาธนาคารกลางที่มีแผนจะใช้เงินดิจิทัล”

อากุสติน คาร์สเท็น

เป็นที่สังเกตว่าท่าทีของนายคาร์สเท็น ผู้บริหารของธนาคาร BIS เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลนั้น แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขายังให้สัมภาษณ์ออกสื่ออยู่เลยว่า บรรดาธนาคารกลางทั้งหลายยังไม่เห็นประโยชน์ของการออกสกุลเงินดิจิทัลมาใช้

 

แต่เนื้อหาในรายงานประจำปีฉบับล่าสุดของ BIS แสดงให้เห็นถึงทัศนะมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมามีบริษัทด้านไฮเทคหลายรายข้ามเส้นธุรกิจเข้ามาสู่ตลาดการเงิน และบริษัทอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล อเมซอน และอาลีบาบา ที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่มหึมาในกำมือ ก็เป็นคู่แข่งที่ทำให้บรรดาธนาคารใหญ่ๆรู้สึกเสียเปรียบ “บริษัทเหล่านี้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาสู่แวดวงการเงินมากยิ่งขึ้น โดยพวกเขาเข้ามามีบทบาทในทุกๆอย่าง ตั้งแต่การเสนอให้สินเชื่อ การปล่อยเงินกู้ ไปจนถึงการออกสกุลเงินดิจิทัลมาใช้”

 

ดังนั้น ท่ามกลางแนวโน้มดังกล่าว ธนาคาร BIS จึงมีแผนจัดตั้ง innovation hub หรือศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงินขึ้นมา เพื่อศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลให้สอดรับกับกระแส ขณะเดียวกันธนาคารกลางของหลายประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และ สิงคโปร์ ต่างก็กำลังจัดตั้ง fintech innovation hub หรือศูนย์นวัตกรรมฟินเทค ขึ้นมาศึกษาวิจัยเจาะลึกเกี่ยวกับศักยภาพของตลาดเงินดิจิทัลเช่นกัน และที่มีความคืบหน้าที่สุดก็เห็นจะเป็น ประเทศสวีเดน ที่ธนาคารกลางกำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิตอล “อี-โครนา” (e-Krona) ออกมา นับเป็นความเคลื่อนไหวของบรรดา ธนาคารกลางที่จำเป็นต้องเร่งมือดำเนินการให้ทันกับกระแสความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีและการรุกหนักของบริษัทเอกชน 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3484 ระหว่างวันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2562