เออาร์ไอพีเกาะกระแส‘เกม’ ดึงคนเข้าช็อปคอมมาร์ตจอย

05 ก.ค. 2562 | 23:40 น.

งานเทรดโชว์ไอที-สมาร์ทโฟน เกาะกระแสเกมฟีเวอร์ ชูเป็นจุดขายดึงคนเข้าช็อปสินค้าในงาน “เออาร์ไอพี” เผยไฮไลต์ “คอมมาร์ตจอย 2019” ปรับพื้นที่มุ่งเน้นคอนเซ็ปต์ “ความสุขสนุกของคนในยุคดิจิทัล” ดึง ททท. โชว์เทคโนโลยี การท่องเที่ยวเสมือนจริงผ่านแว่นวีอาร์   คาดเงินสะพัด 3,000 ล้านบาท

“เกม” และ “อี-สปอร์ต” กลายเป็นจุดขายของงานเทรดโชว์สินค้าไอที และสมาร์ทโฟนไปแล้ว ผู้จัดงานพยายามดึงกระแสความนิยมเกมและอี-สปอร์ต มาใช้เรียกแขกเข้างาน และเลือกซื้อสินค้าภายในงาน  โดยทั้งพีซี โน้ตบุ๊ก และสมาร์ทโฟน ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเล่นเกม   โดยในมูลค่าตลาดเกม 20,000 ล้านบาทนั้นคาดว่ากว่าครึ่งมาจากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์

นายพรชัย จันทรศุภแสง ผู้อำนวยการธุรกิจสื่อไอทีและดิจิทัล บริษัทเออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน)  ผู้จัดงานขายและแสดงสินค้าไอที “คอมมาร์ต” กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ปีที่ผ่านมาคอมมาร์ตได้เริ่มทำพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า ดิจิทัล พาวิเลียน ครั้งนี้ก็ได้มีการปรับพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่ คอมมาร์ตจอย อาร์เคด (Commart Joy Arcade) ที่เน้นคอนเซ็ปต์เรื่องความสุขสนุกของคนในยุคดิจิทัล โดยหลักๆ ยังเป็นเรื่องของเกมที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้เห็นเกมตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เกมในสมัยที่พ่อแม่เคยเล่น จนถึงเกมรุ่นใหม่ๆ ที่คุ้นเคยกัน 

นอกจากนี้ไฮไลต์อีกส่วนคือเรื่องของการท่องเที่ยวที่ครั้งนี้ นอกจากแบรนด์สินค้าไอทีแล้วคอมมาร์ตจอย ยังได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการนำเทคสตาร์ตอัพ มาโชว์ในงานถึง 11 บริษัทที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงมีเรื่องของเทคโนโลยี VR  (Virtual Reality) การท่องเที่ยวเสมือนจริงผ่านแว่นวีอาร์โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่นั้นจริง

“จะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา คอมมาร์ตจอย  จะเน้นไปที่เรื่องของเกม ซึ่งในปีนี้เพื่อให้เกิดความแตกต่างสิ่งที่จะเพิ่มมาจากเรื่องเกมสำหรับคอมมาร์ท จอย 2019 นี้จะมีเรื่องของการท่องเที่ยว หรือแกดเจต ต่างๆ ที่ทำจะมาสร้างสีสันและความสนุกให้ชีวิตมากขึ้น”

ทั้งนี้สัดส่วนของสินค้าที่จำหน่ายภายในงานคาดว่าประมาณ 70% ยังคงเป็นคอมพิวเตอร์โน้ต บุ๊ก,  15% จะเป็นพวกคอมพิวเตอร์พีซี  DIY และอีก 15% เป็นโมบาย ที่จะเพิ่มเข้ามารวมถึงแกดเจตต่างๆ  โดยคาดว่าน่าจะมี มูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการซื้อหนึ่งครั้ง (Basket Size) อยู่ที่ประมาณ 40,000 บาทต่อคน เพราะราคาที่สูงขึ้น   อีกทั้งเนื่องจากใกล้จะผ่านพ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ละแบรนด์สินค้าก็ไม่ได้มีความคาดหวังที่จะไปเร่งสปีดในช่วงปลายปี เพราะฉะนั้นน่าจะมีการเร่งจัดโปรโมชันและแคมเปญทางการตลาดที่จะอัดกันตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อให้มีรายได้หล่อเลี้ยงตลอดทั้งปี ซึ่งที่เหลือจะได้มีเวลาคิดแผนธุรกิจในปีหน้า ดังนั้นรอบนี้น่าจะมีการจัดโปรโมชันที่ค่อนข้างร้อนแรง

เออาร์ไอพีเกาะกระแส‘เกม’ ดึงคนเข้าช็อปคอมมาร์ตจอย

“สำหรับกำลังซื้อของผู้บริโภคนั้น เมื่อผ่านการเลือกตั้งมาสักพัก ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ตั้งรัฐบาลอย่างชัดเจนแต่ที่แน่ๆ รู้แล้วว่าใครเป็นรัฐบาลเพราะฉะนั้นตรงนี้น่าจะมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยในระดับหนึ่งคงไม่ได้กลัวเหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งถ้าเทียบกับงานคอมมาร์ต คอนเน็กต์ที่จัดในช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งยังไม่รู้ผลการเลือกตั้งก็ยังมีกำลังซื้อที่ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นช่วงนี้น่าจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา”

 

ขณะที่คอมมาร์ตจอย  ปีที่ผ่านมานั้นมียอดเงินสะพัดในงาน  2,800-2,900 ล้านบาท ปีนี้หากเทียบกับช่วงต้นปีที่ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีผนวกกับมีการย้ายสถานที่ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าเงินสะพัดน่าจะเพิ่มขึ้นมาถึง 3,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา และผู้เข้าชมงานอยู่ที่ราว 8 แสนคนขึ้นไป

“ปกติถ้าพูดถึงคอมมาร์ตเราจะเห็นภาพของโน้ตบุ๊กเยอะมาก โมบาย แทบไม่เห็นหรือจะห่างหายไป แต่รอบนี้จะมีครบในทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งเราได้ร้านค้าปลีกที่เป็นรายใหญ่ของเมืองไทยมาร่วมทั้ง ไอทีซิตี้, เจไอบี,แอดไวซ์, บานาน่า และรายย่อยๆ  อีกส่วนคือร้านค้าปลีกจากฝั่งที่เป็นโทรศัพท์มือถือ เช่น ซีเอสซี, เจมาร์ทที่เข้ามาร่วมในงานครั้งนี้ ก็จะเห็นความคึกคักเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตามภาพรวมของตลาดไอทีนั้นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเกม สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าอุปกรณ์ในหมวดหมู่อื่นๆ เนื่องจากผู้ซื้อในกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีความกังวลในเรื่องของราคามากนัก ส่วนใหญ่จะใช้อารมณ์ในการซื้อ หากสเปกตรงตามความต้องการก็ยอมที่จะจ่ายในราคาที่สูง แต่เซ็กเมนต์อื่นๆ ก็ยังคงเติบโตควบคู่กันไป 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3484 ระหว่างวันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2562