บาทพ่นพิษ เอสเอ็มอี กำไรหดกว่า 10%

05 ก.ค. 2562 | 09:25 น.

เอสเอ็มอีประสานเสียงโอดเงินบาทแข็งกระทบกำไรจากการส่งออกหด แม้จะมีการทำประกันค่าเงิน ระบุค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 32 บาทขึ้นไป ชี้หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายธุรกิจอาจแย่

นางสิริวรรณ เกษวิเศษ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ  บริษัท โรแยล พลัส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนํ้าผลไม้ส่งออกแบรนด์ “โรแยล พลัส” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกในรูปแบบของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ที่ประมาณ 40-45% ของยอดรายได้ทั้งหมด โดยในสภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่านั้น รายได้จากการส่งออกของบริษัทซึ่งเป็นช่องทางหลักหายไปแล้วประมาณ 10% ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการทำประกันส่งออกก็ตาม  แต่ก็ช่วยได้แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

ทั้งนี้  มองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 32 บาทขึ้นไป โดยประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ  มองว่าน่าจะเป็นเรื่องการทำความเข้าใจกับผู้ส่งออกให้มากที่สุดถึงเรื่องต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของค่าแรง ซึ่งตามนโยบายที่จะมีการปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท จะกระทบอย่างมากต่อเอสเอ็มอี  ซึ่งผู้ประกอบการเองคงไปคาดหวังให้รัฐเข้าไปแก้ไขเรื่องค่าเงินลำบาก เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจมหภาค  และจะไม่เป็นผลดีต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ

บาทพ่นพิษ เอสเอ็มอี  กำไรหดกว่า 10%

“รัฐต้องการผลักดันนโยบายให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งหมายถึงจะต้องมีการลงทุนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิต  แต่ ณ ปัจจุบันต้องบอกเลยว่าต้นทุนไม่ได้เอื้ออำนวย  ทั้งการส่งออกที่ได้มูลค่าลดลง  และต้นทุนเรื่องของค่าแรงที่ค่อนข้างสูง  อีกทั้งการส่งออกก็ต้องมีการแข่งขันกับประเทศอื่น  โดยที่ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถจะกำหนดราคาได้เองตามอำเภอใจ”

นายสิวพงศ์  สัจจะวัฒนวิมล  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท  เนทีฟฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปลาร้าพาสเจอไรซ์ แบรนด์ “ปลายจวัก” กล่าวว่า บริษัทเริ่มได้รับผลกระทบบ้างพอสมควรจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยต่อล็อตที่ส่งออกไปยังเกาหลีจะถูกกระทบประมาณ 1-2 แสนบาท  อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการเรื่องเอกสาร  เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ประเทศสหรัฐฯ  และกลุ่มประเทศในแถบยุโรป  หรืออียู ซึ่งคาดว่าน่าจะเรียบร้อยภายในปีนี้

อย่างไรก็ดี หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่  หลังจากที่แบรนด์สามารถเข้าไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ และอียูได้แล้ว น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากต่อยอดขาย เมื่อต้องมีการแปลงเงินเป็นสกลุเงินบาท โดยค่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมกับการส่งออกมองว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  แต่หากเงินบาทแข็งค่าตํ่ากว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจ

“สิ่งที่สำคัญเวลานี้ก็คือการซื้อวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศจากคู่ค้ากลับไม่ได้รับการลดราคาลงตามค่าเงินบาท ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตของบริษัท  โดยจากการสอบถามเพื่อนนักธุรกิจด้วยกันที่มีการส่งออกมูลค่าสูง  ต่างก็ยอมรับว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากเงินบาทที่แข็งค่า”

นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการ  บริษัท โจ-ลี่  แฟมิลี่ จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมเพื่อสุขภาพ แบรนด์ “เวล-บี” กล่าวว่า  จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า  ส่งผลทำให้กำไรจากการส่งออกของบริษัทหายไป 5-7% เนื่องจากคู่ค้าไม่ปรับราคาลดลงให้ แม้ว่าบริษัทจะมีการทำประกันส่งออกค่าเงินแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังไม่สามารถลดผลกระทบได้ทั้งหมด  โดยคู่ค้าเกือบ 100% ของบริษัทมีการชำระค่าสินค้าเป็นเงินดอลลาร์ และยูโร ซึ่งแนว ทางในการแก้ไขปัญหาของบริษัทในปัจจุบันคือการดำเนินการซื้อขายกันด้วยเงินบาท  เพื่อลดช่องว่างทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนของทั้ง 2 ฝ่าย โดยที่คู่ค้าต่างก็เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

สำหรับค่าเงินบาทที่มองว่าเหมาะสมที่สุดในการส่งออกน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่านั้น เพื่อทำให้มูลค่าในการซื้อขายมีความคุ้มค่า โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่งออกอย่างเดียวและไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเลย ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ไม่สมดุลกันระหว่างทั้ง 2 ด้าน แต่ของบริษัทยังมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้สามารถผ่อนคลายผลกระทบที่เกิดขึ้นลงได้บ้างจากการส่งออก 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3484 วันที่ 4-6 กรกฎาคม 2562

บาทพ่นพิษ เอสเอ็มอี  กำไรหดกว่า 10%