เป้าหมายเงินเฟ้อของไทย

03 ก.ค. 2562 | 05:55 น.

วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบด้วย 3 ประการหลักๆ ได้แก่ ประการแรก คือ การรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับตํ่าและมีเสถียรภาพ ประการที่ 2 คือ การดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเคลื่อนไหวรอบๆ ระดับศักยภาพของผลผลิต กล่าวคือหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยและมีการขยายตัวมากเกินไป และประการที่ 3 คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยการกำหนดตัวแปรที่ธนาคารกลางต้องการควบคุม (nominal anchor) เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้นโยบายทางการเงินบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ดังนั้น การสร้างตัวแปรควบคุมที่น่าเชื่อถือจึงถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของนโยบายทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาเป็นแบบลอยตัวในปี 2540 ซึ่งนโยบายทางการเงินในช่วงนี้ คือการตั้งเป้าหมายปริมาณเงิน (monetary targeting) ซึ่งเป็นการกำหนดปริมาณเงินภายในประเทศในการควบคุมความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย รักษาเสถียรภาพของราคา และทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเงินและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการดำเนินนโยบายนี้มีความไม่แน่นอนแม้ในระยะกลาง นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นก็ไม่คงที่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากเหตุผลและปัจจัยต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ส่งผลให้ในปี 2543 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible inflation targeting) เนื่องจากเป็นกรอบนโยบายที่เอื้อต่อการดูแลเสถียรภาพของราคาผ่านการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการให้ความยืดหยุ่นต่อการดำเนินนโยบายการเงินโดยการกำหนดช่วงของเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อรองรับความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือทางการเงินในการควบคุมเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ในปี 2543 ธนาคารแห่งประเทศ ไทยได้เริ่มใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้น ฐาน (core inflation targeting) ซึ่งหมายถึงอัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ไม่รวมราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน เนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวมีความผันผวนมากในระยะสั้นและมักเกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของนโยบายการเงิน โดยได้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่ 0-3.5% ต่อมาในปี2552 ได้ปรับช่วงให้แคบลงคือ 0.5-3% เพื่อลดโอกาสในการเกิดสภาวะเงินฝืด และสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ได้สะท้อนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headlineinflation) หรืออัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าของผู้บริโภคทั้งหมด กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใช้เวลานานอย่างมากในการอธิบายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพซึ่งมีผลต่อ การบริโภค การออม ของครัวเรือน และการลงทุน การตั้งราคาของภาคธุรกิจ ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายกว่าถึงแนวนโยบายทางการเงินเมื่อธนาคารกลางใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เปลี่ยนมาใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation targeting) ในปี 2558 โดยตั้งเป้าหมายคืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.5% และมีช่วงที่ยอมรับได้ที่ ±1.5% เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารต่อสาธารณะถึงการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายทางการเงิน โดยค่ากลางที่ 2.5% เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายทางการเงินในการควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว ในขณะเดียวกันช่วงที่ยอมรับได้ ±1.5% ทำให้นโยบายทางการเงินมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวทางเศรษฐกิจฉับพลัน

ดูเหมือนว่าการมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเงินเฟ้ออย่างเดียวจะไปลดบทบาทของนโยบายทางการเงินในการลดความผันผวนของเศรษฐกิจ แต่โดยหลักการแล้วถ้าธนาคารกลางสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมายพอดี การว่างงานจะอยู่ที่ระดับธรรมชาติ หรือกล่าวคือการผลิตก็จะอยู่ที่ระดับศักยภาพ

สำหรับประเทศไทยนั้น ภายหลังจากมีการดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ พบว่า อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยลดลงจาก 3.8% ซึ่งเป็นช่วงที่ใช้เป้าหมายปริมาณเงิน มาอยู่ที่อัตราเฉลี่ย 2.1% ความผันผวนของเงินเฟ้อซึ่งวัดโดยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานก็ลดลงด้วยจาก 4.4 มาเป็น 1.9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป้าหมาย เงินเฟ้อช่วยรักษาเสถียรภาพของอัตราเงิน เฟ้อได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ค่าการคงอยู่ของเงินเฟ้อ (inflation persistence) ก็ตํ่าลงจาก 0.83 มาเป็น 0.71 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงระดับความน่า เชื่อถือของนโยบายทางการเงินของไทยที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี อาจมีข้อสงสัยว่าเป้าหมายเงินเฟ้อค่อนข้างจะไม่ยืดหยุ่นและไปทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว แต่จากงานวิจัยที่ผ่านมาสำหรับหลายประเทศที่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อพบว่าเป้าหมายเงินเฟ้อไม่ส่งผลเสียต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ในช่วงแรกของการดำเนินการอาจมีผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวบ้าง แต่ในที่สุดก็จะช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายเงินเฟ้อของไทย

สำหรับประเทศไทยการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% และ 3.9% ในช่วงของการใช้เป้าหมายปริมาณเงินและเป้าหมายเงินเฟ้อตามลำดับ และความผัน ผวนของเศรษฐกิจไทยลดลงหลังจากการใช้เป้าหมายเงินเฟ้อจาก 5.6 มาอยู่ที่ 3.1แสดงว่าเป้าหมายเงินเฟ้อช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว

ในขณะเดียวกันความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายการเงินลดความผันผวนของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นโดยเฉลี่ยลดลง จาก 6.8% มาเป็น 2.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยลดลงเมื่อเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายเงินเฟ้อทำให้ประชาชนมีความเข้าใจและเพิ่มความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยแท้จริงระยะสั้นลดลงจาก 4.1 มาเป็น 1.6 ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายเงินเฟ้อมีส่วนรักษาเสถียรภาพของอัตราดอกเบี้ยแท้จริง ซึ่งนำไปสู่เสถียรภาพของภาคการผลิตแท้จริง นอกจากนี้ อาจมีข้อสังเกตได้ว่าเป้าหมายเงินเฟ้อมุ่งเน้นในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินภายในมากกว่าภายนอกประเทศ แต่โดยหลักการแล้วเงินเฟ้อตํ่าและมีเสถียรภาพจะส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ ประเทศไทยหลังจากใช้เป้าหมายเงินเฟ้อแล้วความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทลดลงจาก 8.8 เป็น 4.8 อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงมีความสัมพันธ์กับการยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาเป็นแบบลอยตัว

นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายการเงินของไทย เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเบื้องต้นในเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่าอัตราเงินเฟ้อพื้น ฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.54% และ 1.15% ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ตํ่ากว่าค่ากลางแต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี

และเมื่อพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจในภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.8% ตํ่ากว่าที่คาด โดยเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลจากมาตรการกีดกันทางการค้า แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลและมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ในขณะที่เศรษฐกิจยังคงมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

ทั้งนี้ แม้ว่าจากการประชุมครั้งล่าสุดในวันที่ 18-19 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25-2.50% คงเดิม แต่เริ่มส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่ ในการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับ 1.75% แต่ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2562 และ 2563 ลง

ดังนั้นจึงถือเป็นความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงินในการใช้กรอบความยืดหยุ่นของเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อนโยบายการเงินในการรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3484 ระหว่างวันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2562

เป้าหมายเงินเฟ้อของไทย