เวทีระส่ำ ทรัมป์วิจารณ์ยับผู้นำ G20

29 มิ.ย. 2562 | 00:47 น.

การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G20 ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2562 แม้ว่าจะมีการประชุมหารือในระดับรัฐมนตรีมาเป็นลำดับก่อนหน้านี้ในประเด็นความร่วมมือทางการเงิน การค้า การลงทุน และการพัฒนาในสังคมดิจิตอล แต่เมื่อการประชุมระดับผู้นำมาถึง บรรยากาศแห่งความร่วมมือกลับดูจะถอยห่างเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางถึงโอซากา ตั้งแต่วันพฤหัสฯ (27 มิ.ย.) ยังคงเดินหน้าวิพากษ์วิจารณ์ประเทศพันธมิตรใน G20 แบบเข้มข้นรุนแรงตามสไตล์ เช่น การออกมาระบุว่า สหภาพยุโรปหรืออียู มีพฤติกรรมการค้าเอาเปรียบสหรัฐฯมาโดยตลอดจนยากที่จะทำธุรกิจการค้าระหว่างกัน โดยเปรียบเทียบว่าอียูนั้น “ย่ำแย่” ยิ่งกว่าจีนเสียอีก

ประธานาธิบดีทรัมปืพบกับนางอันเกลา แมร์เคิล นายกฯเยอรมนี

รวมถึงก่อนหน้านั้นเขายังวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศเจ้าภาพว่า ภายใต้พันธะสัญญาหลังสงครามโลก สหรัฐฯมีพันธกิจต้องปกป้องญี่ปุ่นหากญี่ปุ่นถูกโจมตีทางการทหาร แต่เขาก็ยังสงสัยว่า ถ้าสหรัฐฯถูกโจมตี ญี่ปุ่นจะช่วยหรือไม่ ซ้ำยังประชดประชันว่าญี่ปุ่นคงไม่ช่วยแต่จะนั่งดูข่าวสหรัฐฯถูกโจมตีอยู่หน้าจอทีวีโซนี่

เวทีระส่ำ ทรัมป์วิจารณ์ยับผู้นำ G20
 

หันมาทางอินเดียซึ่งเพิ่งขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเป็นการตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า การที่อินเดียขึ้นภาษีสินค้าอเมริกันรอบใหม่นี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะยอมรับได้ เขาประกาศว่า “การขึ้นภาษีจะต้องยุติลงได้แล้ว” แต่นั่นก็ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง เพราะฝ่ายสหรัฐฯเองต่างหากที่ใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรเป็นอาวุธในการบีบประเทศคู่ค้ามาตลอดในระยะหลังๆนี้  

 

แม้แต่ประเทศเวียดนามที่เป็นแขกรับเชิญของการประชุมสุดยอด G20 ในปีนี้ ก็ยังโดนผู้นำสหรัฐฯสับด้วยวาทกรรมชวนให้บาดหมาง โดยช่วงต้นสัปดาห์นี้หลังจากที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการค้าของจีน ทรัมป์ก็แว้งมาเหน็บแนมเวียดนามว่า เวียดนามเป็นประเทศที่ใช้ประโยชน์จากทุกๆคนได้อย่างแย่ที่สุด “มีหลายบริษัทที่โยกย้ายเข้าไปลงทุนในเวียดนาม แต่เวียดนามก็เอาเปรียบบริษัทของเรา แย่ยิ่งกว่าจีนเสียอีก” เป็นการวิจารณ์ที่หลุดจากปากของทรัมป์ผ่านสื่อ

   เวทีระส่ำ ทรัมป์วิจารณ์ยับผู้นำ G20

ในส่วนที่ได้รับการจับตาจากทั่วโลก คือการพบกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในวันเสาร์นี้ (29 มิ.ย.) แม้ว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ทั้งสองผู้นำจะไม่สามารถตกลงคลี่คลายข้อพิพาทการค้ากันได้ และไม่คิดว่าจะมีข่าวดีออกมาจากการพบกันครั้งนี้ แต่นักวิเคราะห์ก็ยังแตกเสียงกันอยู่โดยฝ่ายหนึ่งมองว่า อาจเกิดเรื่องไม่คาดฝันเหมือนเช่นที่ทั้งคู่เคยพบกันและทำให้โลกประหลาดใจมาแล้วในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งในการพบกันนอกรอบการประชุม G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ผู้นำจีนและสหรัฐฯตกลงใจที่จะยุติสงครามการค้าเป็นเวลา 90 วันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาคลี่คลายปัญหา ดังนั้น ครั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่า สิ่งที่ไม่คาดฝันเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า สถานการณ์เปลี่ยนไปโดยมีการท้าทายกันมากขึ้น ทำให้ยากจะเชื่อว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนจะคลี่คลายลงได้ในเวที G20 ในทางตรงข้าม การพบกันครั้งนี้อาจทำให้สหรัฐฯหยิบยกหลากหลายประเด็นปัญหามาคุยกับจีน แล้วเกิดเป็นความขัดแย้งในปมใหม่ๆ เช่นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและค่าเงินหยวน  ทรัมป์เคยขู่ไว้ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจีนระลอกใหม่ (วงเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์) หลังการประชุม G20 ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯกำลังอยู่ในขั้นของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา

 

อนึ่ง ประเทศสมาชิก  G20 ประกอบด้วยอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน อียู ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย  แอฟริกาใต้ ตุรกี อังกฤษ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้รับเชิญในปีนี้คือ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ สเปน เวียดนาม ไทย อิยิปต์ ชิลี และเซเนกัล นอกนั้นก็เป็นตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)  องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) องค์การอนามัยโลก (WHO)  และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) 

 

ประเทศกลุ่ม G20 มีขนาดเศรษฐกิจ 86% ของจีดีพีโลก (สถิติปี 2560) 77% ของการค้าโลกโดยรวม  และมีประชากรรวมคิดเป็นสัดส่วน  64% ของประชากรโลก การประชุม G20 จึงมีความสำคัญกับทุกประเทศในโลกนี้ เพราะการขยับไปทางไหนของประเทศ G20 จะกระทบต่ออาเซียนและทั่วโลก

 

ประเด็นการประชุมในปีนี้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าโลกครอบคลุม 3 หัวข้อคือ 1.เศรษฐกิจเข้มแข็ง ยั่งยืนและสมดุล (Promoting strong, sustainable and balanced growth) เน้นผลักดันสังคม 5.0 หรือ Society 5.0 (ที่รู้จักในอีกชื่อว่า Super Smart Society) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ  ผลักดันอุตสาหกรรมสุขภาพ ผ่านการใช้ AI, IoT, big data, และหุ่นยนต์  อุตสาหกรรมการขนส่งที่ไร้คนขับ  โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ sensors, AI และหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีทางการเงิน  เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเน้นการปฎิรูปกฎกติกา  ปฎิรูปดับบลิวทีโอ การแก้ไขสถานการณ์สงครามการค้า  การผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีทีพีพี (Trans-Pacific Partnership: TPP) และอีพีเอระหว่างญี่ปุ่นและอียู (Japan-EU Economic Partnership Agreement: EPA) รวมทั้งอาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ  ปลอดภัย รองรับภัยพิบัติ สร้างงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยี  2. จัดหาสินค้าสาธารณะระหว่างประเทศและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Greater provision of international public goods and resilience) ประกอบด้วย ระบบประกันสุขภาพ จัดการภัยพิบัติและขยะในทะเล หลีกเลี่ยงกับดักหนี้ (Debt Trap) ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก สร้างความเท่าเทียมทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  3.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization of the economy) ที่ครอบคลุม Crypto-assets  การสร้างกฎระเบียบในยุคดิจิทัล  การจ้างงานและเพิ่มประสิทธิภาพ