สทนช.เผย 14 จว. 36 อำเภอ ฝนทิ้งช่วง เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

28 มิ.ย. 2562 | 10:10 น.

สทนช.สแกนพื้นที่นอกเขตชลประทานหวั่นประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง พบ 14 จังหวัดฝนตกสะสมน้อยกว่า 10 มม. เสี่ยงกระทบน้ำอุปโภค-บริโภค พื้นที่เกษตร เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการป้องผลกระทบ พร้อมเร่งเก็บกักน้ำในอ่างและพื้นที่ท้ายอ่างฯ หลังคาดการณ์ฝนทิ้งช่วงถึงกลางก.ค. ชี้เป้าปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มความชุ่มชื้น-เติมน้ำเขื่อนน้ำน้อยกว่า 30%

สทนช.เผย 14 จว. 36 อำเภอ ฝนทิ้งช่วง เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ พบว่า แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่จากการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์ฝนสะสม 10 วัน (ระหว่าง 18-27 มิ.ย. 62) พบว่า มีพื้นที่ปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร (มม.) เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน และไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนสำรอง ที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่เกษตรอาจได้รับความเสียหายได้ จำนวน 14 จังหวัด 36 อำเภอ อาทิ จ. เชียงใหม่ สุพรรณบุรี นครราชสีมา ชลบุรี โดยมีถึง 3 อำเภอ ใน 3 จังหวัดไม่มีฝนตกเลยติดต่อกัน 10 วัน ได้แก่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อ.สีชัง จ.ชลบุรี และอ.คลองใหญ่ จ.ตราด ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้ได้วิเคราะห์พื้นที่ปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 50 มม.โดยกำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังนอกเขตชลประทาน จำนวน 46 จังหวัด 169 อำเภอ อาทิ จ. เชียงใหม่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช ชลบุรี เป็นต้น

สทนช.เผย 14 จว. 36 อำเภอ ฝนทิ้งช่วง เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

“สทนช. ได้จัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และติดตามการคาดการณ์แนวโน้มฝนสะสมต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมวางแนวทางแก้ไขปัญหา และรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ผ่านทางจังหวัดเพื่อให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกร ให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พิจารณาแผนการบินปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 22 แห่ง และอ่างขนาดกลางจำนวน 172 แห่ง เพื่อเติมน้ำในอ่างฯ และกักเก็บปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุด รวมทั้งประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำ ให้พิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ โดยระบายน้ำด้วยความระมัดระวังและต้องเร่งกักเก็บน้ำให้มากขึ้น”นายสมเกียรติ กล่าว

สทนช.เผย 14 จว. 36 อำเภอ ฝนทิ้งช่วง เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝนช่วงปลายเดือน มิ.ย.- ก.ค. พบว่า จะมีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ขณะที่พื้นที่ตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่างจะมีฝนน้อย โดยปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง มักเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงอย่างมาก อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน ดังนั้น สทนช.ได้กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ พื้นที่แก้มลิงต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนและกักเก็บน้ำให้มากที่สุดสอดคล้องกับปริมาณน้ำในอ่างฯ ที่จะไม่กระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ

สทนช.เผย 14 จว. 36 อำเภอ ฝนทิ้งช่วง เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูฝนนี้ สทนช.ยังคงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% ของปริมาณน้ำใช้การด้วย เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ประเทศไทยจะกลับมามีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่อง ที่ก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ได้ โดยขณะนี้อ่างขนาดใหญ่ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อีกมาก มีเพียงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินกว่า 80% ของความจุ จำนวน 8 อ่าง แยกเป็น ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันอออก 2 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง รวมถึง สทนช.ยังอำนวยการ กำกับ ติดตาม ให้ทุกหน่วยงาน เตรียมความพร้อมรับมือในช่วงฤดูฝนนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 4 ก.ค.62 นี้ สทนช. กำหนดจัดประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อวิเคราะห์ ติดตาม คาดการณ์ ประเมินสถานการณ์น้ำ รวมถึงซักซ้อมแนวทางมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบอย่างใกล้ชิดด้วย