‘สหพัฒน์’ ปรับทัพสู้บาทแข็งเบนเข็มรุกธุรกิจ อาหาร บริการ การศึกษา

01 ก.ค. 2562 | 03:00 น.

เงินบาทแข็งพ่นพิษหนัก กระทบกราวรูด ทั้งส่งออก กำลังซื้อรากหญ้า ภาคการเกษตร แฟชั่นเสื้อผ้า “สหพัฒน์” ปรับแผนบริหารจัดการความเสี่ยง ดันธุรกิจอาหารสร้างยอดขายทดแทนเสื้อผ้าส่งออก หวังบาลานซ์รายได้ พร้อมเดินหน้าลงทุนกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ ภาคบริการ การศึกษา และพลังงานทดแทน

สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งของไทยในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของประเทศในหลายภาคส่วน ทั้งการส่งออก ท่องเที่ยว และรายได้ของประชากรรากหญ้า โดยเฉพาะภาคการเกษตร และกลุ่มสินค้าที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบและแรงงานภายในประเทศแบบ 100% แม้จะยังเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของค่าบาทที่แข็งตัวแต่ทว่ากลับสร้างมูลค่าความเสียหายต่อเม็ดเงินที่จะเข้าประเทศจำนวนมาก ทำให้หลายผู้ประกอบการต้องเร่งปรับทัพการดำเนินธุรกิจเพื่อบาลานซ์รายได้ของการส่งออก รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง “เครือสหพัฒน์”

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาที่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลนั้นถือว่าเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกำลังซื้อในระดับรากหญ้า ภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบและหายไปค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหากำลังซื้อชะลอตัวเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งผลต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศทำให้มีต้นทุนสูงและสามารถส่งออกได้น้อยลง โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้วัตถุดิบและแรงงานในไทยแบบต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้าแบบ 100% ซึ่งจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องมาจากกลุ่มธุรกิจสิ่งทอ (เท็กซ์ไทล์) โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเสื้อผ้า ที่ได้รับผลกระทบเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งตัวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าหากค่าเงินบาทยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งมองว่าอัตราที่เหมาะสมต่อการส่งออกคือ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 

 

ด้านแผนงานของสหพัฒน์นับจากนี้ มีการปรับแนวคิดในการทำงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อในแต่ละช่วงเวลา เมื่อแนวโน้มกลุ่มธุรกิจเสื้อผ้าและแฟชั่นเติบโตลดลง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่เริ่มมีปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัวจนส่งผลกระทบต่อการเติบโตในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มมองหากลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่เสื้อผ้าเข้ามาสร้างการเติบโตแทนที่ และได้เริ่มมีการลดขนาดธุรกิจ (Scale Down) ธุรกิจเสื้อผ้าลง พร้อมปรับแผนงานสู่ธุรกิจเสื้อผ้าเจาะตลาดลูกค้าองค์กร (B2B) แทน เช่น ชุด ยูนิฟอร์พนักงาน, ชุดใช้งานเฉพาะทาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจไปยังกลุ่มธุรกิจอาหารแทน เนื่องจากมองว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในตลาด โดยปัจจุบันสัดส่วนธุรกิจ อาหารของทางเครือเริ่มมากว่ากลุ่มธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นแล้ว

‘สหพัฒน์’ ปรับทัพสู้บาทแข็งเบนเข็มรุกธุรกิจ อาหาร บริการ การศึกษา

 

“ตอนนี้เราโฟกัสที่ธุรกิจอาหารซึ่งกำลังมีการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง แทนที่ธุรกิจเสื้อผ้าที่มีปัญหาจากการส่งออกและมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง ซึ่งหากถามว่าในอนาคตจะโฟกัสธุรกิจอาหารเป็นหลักเหมือนเดิมหรือไม่คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากเพราะต้องดูปัจจัยบวกลบและสภาพการเติบโตในขณะนั้นด้วย”

นายบุณยสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ทางเครือยังมีการปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการหันไปลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง โดยจะหันไปรุกในธุรกิจกลุ่มสินค้า บริการ และการศึกษา เช่น ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ ในย่านสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับสินค้าในเครือของบริษัทที่ต้องการส่งแบบรวดเร็วและสดใหม่ และธุรกิจพลังงานทดแทนที่กำลังให้ความสนใจในการเข้าขยายตลาด หลังจากกลุ่มประเทศจีนและญี่ปุ่นให้ความสนใจมาลงทุนในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่กลุ่มทุนทั้ง 2 ชาติให้ความสนใจอย่างมาก

‘สหพัฒน์’ ปรับทัพสู้บาทแข็งเบนเข็มรุกธุรกิจ อาหาร บริการ การศึกษา

“ช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนบ้านเราเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าต้องชะลอการลงทุนออกไปเนื่องจากรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ขณะที่เรื่องโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) คืออีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้คาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศน่าจะเริ่มดีขึ้น”

อย่างไรก็ตามแม้ช่วงที่ผ่านมาภาพรวมกลุ่มแฟชั่นของสหพัฒน์จะลดลง แต่ทว่าจากการปรับเปลี่ยนแผนงานไปสู่กลุ่มธุรกิจอาหารที่มีการเติบโตดีเป็นหลัก ควบคู่กับกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์มาม่า,สินค้าจากกลุ่มบริษัท ไลอ้อน จำกัด ก็สามารถสร้างการเติบโตให้แก่เครือได้ ทำให้คาดการณ์ว่าในปีนี้สหพัฒน์จะมีการเติบโตที่ 2-3% จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท

‘สหพัฒน์’ ปรับทัพสู้บาทแข็งเบนเข็มรุกธุรกิจ อาหาร บริการ การศึกษา

“สำหรับในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง แม้มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จภายในเดือนหน้านั้นก็ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจได้ว่าจะดีขึ้นหรือไม่ คงต้องรอดูโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีความรู้ความสามารถมากเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องมีกึ๋นให้มาก กล่าวคือ ต้องมีความรู้ ความซื่อสัตย์ เป็นหลักในการแก้ไขสถานการณ์”

‘สหพัฒน์’ ปรับทัพสู้บาทแข็งเบนเข็มรุกธุรกิจ อาหาร บริการ การศึกษา

ด้านอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตดีในปีนี้อย่าง “มาม่า” ภายใต้การนำทัพของ “นายเวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ยอดขายเติบโตเกินเป้าหมาย 11.6% เพิ่มจากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 5% และส่งผลให้ขณะนี้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มจาก 47% เป็น 51% สูงสุดในรอบ 47 ปีตั้งแต่วางจำหน่ายมาม่า จากปัจจัยด้านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้ประชาชนนำมาซื้อสินค้าขั้นพื้นฐานซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าถือเป็นสินค้าหนึ่งในนั้นที่คนทั่วไปนิยมซื้อ และจากกำลังซื้อ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวยังส่งผลให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายหันมารับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าโดยเฉพาะแบบซองที่เติบโตมากกว่าแบบถ้วยที่เคยได้รับความนิยมมากในช่วง 2-3 ปีก่อน ส่งผลให้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายสิ้นปี 2562 เติบโต 10.5% มูลค่า 10,350 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการเติบโตของบริษัทปีนี้ถือเป็นการเติบโตที่สวนทางตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งเส้นเหลือง เส้นขาว ปัจจุบันมีมูลค่า 20,000 ล้านบาท 6 เดือนแรกเติบโต 6% และคาดว่าทั้งปีน่าจะเติบโต 6% 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3483 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2562