ค้าชายแดน วิ่งสู้ฟัด ลุ้นเป้าทั้งปี 1.6 ล้านล้าน

29 มิ.ย. 2562 | 08:54 น.

สัมภาษณ์

การส่งเสริมการค้าชายแดนและผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และการจัดระเบียบการบริหารการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เป็นหนึ่งในหลายภารกิจอันหนักอึ้งของกรมการต่างประเทศ(คต.) ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “อดุลย์  โชตินิสากรณ์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เพื่ออัพเดตข้อมูล ทิศทาง สถานการณ์ใน 2 ภารกิจหลักข้างต้น

 

5 เดือนโตแค่ 0.6%

“อดุลย์” เผยว่า ในส่วนของการค้าชายแดน (กับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาวและกัมพูชา) และการค้าผ่านแดน (กับจีนตอนใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์) ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 577,392 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 321,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% และการนำเข้า 256,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% ไทยยังได้ดุลการค้า 65,285 ล้านบาท

ค้าชายแดน วิ่งสู้ฟัด  ลุ้นเป้าทั้งปี 1.6 ล้านล้าน

อดุลย์  โชตินิสากรณ์

สำหรับมูลค่าการค้ารวม 577,392 ล้านบาทข้างต้น แบ่งเป็นการค้าชายแดนมูลค่า 466,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% โดยแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 262,969 ล้านบาท ลดลง 3.1% และการนำเข้า 203,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% โดยการค้าชายแดนด้านมาเลเซียยังเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 232,128 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% รองลงมาได้แก่ เมียนมา มูลค่า 84,324 ล้านบาท, สปป.ลาว 82,687 ล้านบาท และกัมพูชามูลค่า 67,388 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18%, 17.7% และ 14.4% ตามลำดับ

ส่วนการค้าผ่านแดนมีมูลค่ารวม 110,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 58,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% และการนำเข้า 52,495 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% โดยการค้าด้านจีนตอนใต้สูงสุดเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 49,107 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44.2% รองลงมาได้แก่ เวียดนาม มูลค่า 33,094 ล้านบาท และสิงคโปร์ 28,663 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% และ 26% ตามลำดับ

“ภาพรวมการค้าชายแดนช่วง 5 เดือนที่โตแค่ 0.6%(ส่งออก+นำเข้า) โดยในส่วนการส่งออกติดลบ 3.1% ซึ่งในจำนวนนี้ส่งออกไปมาเลเซีย-9.3% ไปเมียนมา -2.6% มีเพียงตลาดเดียวที่ขยายตัวเป็นบวกคือกัมพูชา ที่ +21.5% ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อีกปัจจัยคือค่าเงินบาท ที่ล่าสุดในเดือนมิถุนายนแข็งค่ามากสุดรอบ 6 ปี สวนทางสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้านอ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น คู่ค้าชะลอการสั่งซื้อเพราะต้องใช้เงินซื้อมากขึ้น”

 

ลุ้นเป้าทั้งปี 1.6 ล้านล้าน

ปัญหาเรื่องค่าเงินที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าขายนี้ ผู้ส่งออกไทยได้เจรจากับคู่ค้า เพื่อใช้เงินสกุลท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้สกุลเงินบาทของไทยในการซื้อขาย ซึ่งเพื่อนบ้านบอกไม่มีปัญหา แต่ขอก็ให้ฝ่ายไทยรับเงินของเขาด้วย แต่ติดปัญหาที่ฝ่ายไทยไม่รับเพราะค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านไม่มีเสถียรภาพ เช่น เงินจ๊าตของเมียนมา เป็นต้น อย่างไรก็ดีสินค้าไทยที่ส่งออกตามชายแดนส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็น เช่นนํ้ามันสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งเพื่อนบ้านเชื่อมั่นในคุณภาพ และนิยมใช้ คาดจะยังมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในเดือนที่เหลือของปีนี้

“ในปี 2562 ทางกรมได้ตั้งเป้าหมายการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยไว้ที่ 1.6 ล้านล้านบาท จากปี 2561 ตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่ทำได้ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป้าท้าทายปีนี้ที่ 1.6 ล้านล้านบาทเราแอบลุ้นทำได้จริงที่ 1.5 ล้านล้านบาท”

 

เร่งแก้อุปสรรคค้าอาเซียน

ในส่วนของมาตรการทางการค้า ที่เป็นอุปสรรคหนึ่งของการค้าชายแดนและผ่านแดนกับเพื่อนบ้าน ซึ่งเวลานี้แม้ความตกลงการค้าเสรีของอาเซียน(อาฟต้า)ส่วนใหญ่ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันลงเป็น 0% แล้ว แต่ยังมีอุปสรรคจากที่แต่ละประเทศได้มีมาตรการ หรือออกระเบียบกฎเกณฑ์ในการนำเข้าที่เป็นอุปสรรคทางการค้าหรือกีดกันการค้า(NTMs / NTBs) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรภายในของแต่ประเทศ ที่ปัจจุบันยังมีเกือบ 6,000 มาตรการรวมกันนั้น

ทางกรมการค้าต่างประเทศได้ช่วยแก้ไขปัญหาในกรอบการค้าชายแดน เช่น การตั้งคณะกรรมการร่วมการค้าชายแดน(JBTC) มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นประธานร่วม เช่นไทย-เมียนมา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาได้แล้วในหลายเรื่อง เช่น เรื่อง Form D (หนังสือรับรองที่ยื่นขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากร) โดยทางเมียนมาได้ยอมมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ด่านชายแดนสามารถพิจารณาอนุมัติได้ จากเดิมต้องส่งเรื่องไปที่กรุงย่างกุ้งก่อน ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งการแก้ปัญหาในลักษณะคณะกรรมการร่วมฯนี้มีแผนจะดำเนินการในลักษณะเดียวกับกัมพูชาและลาว

ค้าชายแดน วิ่งสู้ฟัด  ลุ้นเป้าทั้งปี 1.6 ล้านล้าน

“ชายแดนด้านมาเลเซียที่ไม่มีปัญหาเรื่อง Form D ล่าสุดไทย-มาเลเซีย ได้ทดลองเปิดด่านพรมแดนด้านอำเภอสะเดาของจังหวัดสงขลากับเมืองบูกิตการยูฮิตัม รัฐเคดาห์ของมาเลเซีย 24 ชั่วโมงโดยจะทดลองเป็นเวลา 3 เดือน (17 มิ.ย.-16 ก.ย.62) เพื่ออำนวยความสะดวกรถบรรทุกสินค้าเข้า-ออกระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้น หากได้ผลดีจะเปิด 24 ชั่วโมง เป็นการถาวรต่อไป” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับ 3483 วันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2562

ค้าชายแดน วิ่งสู้ฟัด  ลุ้นเป้าทั้งปี 1.6 ล้านล้าน