รัฐต้องไม่จำกัดทางเลือกผู้บริโภค

26 มิ.ย. 2562 | 09:38 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3482 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-29 มิ.ย.2562

 

รัฐต้องไม่จำกัด

ทางเลือกผู้บริโภค

 

                เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ออกแถลงการณ์และรวมตัวประท้วงไปถึงกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งยื่นหนังสือประท้วงที่พรรคพลังประชารัฐ ตามที่กรมฯได้เตรียมบุคลากรทั้งด้านวิชาการและกฎหมายเพื่อรองรับแนวนโยบายรัฐบาลใหม่ในการแก้ปัญหา GRAB TAXI โดยเตรียมแก้กฎหมายและกฎกระทรวงให้ GRAB TAXI ถูกกฎหมาย เกรงว่าจะกระทบต่ออาชีพอย่างรุนแรง ที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนมาแย่งให้บริการผ่านแอพพลิเคชัน ร้องเรียนไปยังรัฐแต่ไม่มีความคืบหน้า

                เครือข่ายขอเรียกร้อง หากรัฐจะเดินการเรื่องนี้แล้วมีผลกระทบต่ออาชีพ จะต้องมีแผนการเยียวยาที่เป็นรูปธรรม ต้องปราบปรามรถผิดกฎหมายที่มีอยู่ขณะนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ ให้ทบทวนนโยบายTAXI OK และต้องปรับอัตราค่าโดยสารให้เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยปัจจุบันมีจำนวน TAXI OK นิติบุคคล 11,225 คัน บุคคลธรรมดา 7,771 คัน รวม 18,996 คัน มี TAXI VIP 97 คัน TAXI METER นิติบุคคล 31,486 คัน บุคคลธรรมดา 31,150 คัน รวม 62,536 คัน มีแท็กซี่ในระบบนิติบุคคล 42,708 คัน บุคคลธรรมดา 38,921 คัน รวมทั้งหมดจำนวน 81,629 คัน

 

                เป็นเพียงข้อเสนอที่มองจากมุมเดียว จากมุมของเจ้าของหรือคนขับแท็กซี่ แต่ไม่ได้มองในมิติของผู้บริโภคที่มีปัญหาการใช้บริการแท็กซี่มากมาย โดยเฉพาะการปฏิเสธผู้โดยสาร โดยผลสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอบอกว่ามีสูงถึง 78% ของยอดร้องเรียนปฏิเสธผู้โดยสารด้วยข้ออ้างเติมแก๊ส ส่งรถและรถติด ปัญหาที่ร้องเรียนตามมาเป็นการส่งไม่ถึงที่หมาย และสารพัดปัญหา คนขับพูดจาไม่สุภาพ ขับรถหวาดเสียว แต่ที่สำคัญสุดคือเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร และหากเป็นผู้โดยสารต่างชาติ กลุ่มคนขับบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมฉ้อฉล จะฉกฉวยโอกาสโกงมิเตอร์ผู้โดยสาร สร้างความเสียหายกับชื่อเสียงประเทศให้อับอายไปทั่วโลก ฉะนั้นเพื่อแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าของผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ จึงหันไปใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชัน

                ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของกระแสโลกดิจิตอล ส่งผลสะเทือนให้เกิด disruption ในทุกวงการและหลากหลายอาชีพที่ปรับตัวรับไม่ทันก็อาจจะล้มหายไป แท็กซี่อาจเป็นหนึ่งในนั้นถ้ายังไม่มีการปรับตัว การมาของแกร็บ (Grab) และอูเบอร์ (Uber) สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าได้ครบถ้วน แก้ความกังวลเรื่องเรียกใช้บริการที่ลำบาก ความปลอดภัย วิธีการชำระเงิน

                ประเด็นเทคโนโลยีไล่ล่าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐผู้คุมกฎ ออกกฎต้องคำนึงถึง ขณะที่ผู้ให้บริการต้องก้าวเดินให้ทันผู้ใช้บริการ ถ้ายังยึดติดอยู่กับการพยายามพัฒนาสิ่งเก่าให้ดีขึ้น อาจจะเป็นได้แค่รักษาตัวรอดชั่วคราว แต่ไม่ได้ทรานส์ฟอร์มอย่างแท้จริง แนวนโยบายของรัฐบาลเอง ต้องไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีและจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคส่วนใหญ่ เพียงเพื่ออุ้มกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเอาไว้