ศูนย์วิจัยกสิกรหั่นGDP โตเหลือ3.1% หลังเทรดวอร์ทุบส่งออก

26 มิ.ย. 2562 | 07:04 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เฉือนจีดีพีเหลือโต 3.1% หวังรบ.อัดงบแสนล้านเข็นมาตรการกระตุ้นศก.ดันบริโภคเอกชนโต 4.2% จากเดิม 3.6% ส่วนลงทุนภาครัฐหดตัวจาก 5% เหลือ 1.5%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.1% จากเดิมมองอยู่ที่ 3.7% เป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้าโลกหลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีโอกาสยืดเยื้อ และมีโอกาสถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งกระทบการส่งออกทั้งปี 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.6% ของจีดีพี จึงปรับลดประมาณการส่งออกทั้งปีมาอยู่ที่ระดับ 0% จากเดิม 3.2% อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามผลการประชุม G20 หากสามารถตกลงกันได้อาจจะเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ หากตัวเลขส่งออกออกมาได้ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แม้ว่าในช่วง 4-5 เดือนแรกจะขยายตัวติดลบ และตัวเลขออกมาอยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน

 

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แม้ว่าปัจจัยสงครามการค้าจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่หลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เชื่อว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา โดยจะเน้นเรื่องประชารัฐ เกี่ยวกับการเกษตร และมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยหากดูเม็ดเงินที่เหลือและสามารถใช้ได้ตามกรอบกฎหมายที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้จะมีอยู่ราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยชดเชยการลงทุนภาครัฐที่หายไป และจากตัวเลขการลงทุนภาครัฐในไตรมาสที่ 1 จะออกมาต่ำกว่าคาดที่ระดับ 0.1% ศูนย์วิจัยฯ จึงปรับประมาณการลงทุนภาครัฐจากเดิมที่มองไว้ 5% เหลือ 1.5%

 

ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลสามารถเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้ จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ และรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นอานิสงส์ต่อการบริโภคเอกชนให้ปรับตัวดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยจึงปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขการบริโภคเอกชนเป็น 4.2% จากเดิมมองอยู่ที่ 3.6% อย่างไรก็ดี หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้ อาจจะมีผลให้ตัวเลขชะลอตัวลงได้

 

ภาพรวมตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 น่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดแล้ว และไตรมาสที่ 2 จะกลับมาขยายตัวใกล้เคียง 3% ส่งผลให้ภาพรวมในครึ่งปีแรกจะขยายตัวที่ระดับ 2.9% และครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 3.2% ทำให้จีดีพีทั้งปีจะอยู่ในประมาณการ 3% และมีกรอบประมาณการอยู่ที่ 2.9-3.3% ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมาเป็นความหวังที่ช่วยชดเชยการลงทุนภาครัฐและการบริโภคเอกชนดีขึ้น แต่ภาพเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการควรบริหารจัดการธุรกิจและสภาพคล่องเป็นสำคัญ

 

นางสาวณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อยู่ที่ 1.75% ต่อปี ตลอดทั้งปีนี้ แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่ากนง.ยังคงติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในการประชุมครั้งหน้า

 

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ โดยกรอบประมาณการสิ้นปีอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ฯ แม้ว่าปัจจุบันเงินบาทจะหลุดกรอบไปอยู่ที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งมองระดับที่แข็งค่าสุดอยู่ที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นอาจจะเห็นการแกว่งผันผวนเร็ว แต่จะเห็นว่าความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคที่แข็งค่าน้อยกว่ายังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าไปดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้

ศูนย์วิจัยกสิกรหั่นGDP โตเหลือ3.1% หลังเทรดวอร์ทุบส่งออก

ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ปรับลดลงสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยปรับจาก 5% มาอยู่ที่ 4.5% ซึ่งสินเชื่อธุรกิจปรับลดลงเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจรายใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหลากหลายมากขึ้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นวัฎจักรหากเศรษฐกิจชะลอตัวสินเชื่อจะปรับลดลง ดังนั้น จะเห็นการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรหั่นGDP โตเหลือ3.1% หลังเทรดวอร์ทุบส่งออก