มะกันจัดหนักคว่ำบาตรผู้นำอิหร่าน รัสเซียฮึ่ม! เตือนทรัมป์อย่ายั่วยุ

25 มิ.ย. 2562 | 07:28 น.

เปิดฉากต้นสัปดาห์ (24 มิ.ย.2562) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เพิ่มแรงกดดันให้กับคู่อริอย่างอิหร่านด้วยการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอีกระลอก มุ่งเจาะเป้าหมายไปที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ตลอดจนบรรดาผู้นำของกองทัพ  Revolutionary Guard และก็เหมือนกับทุกครั้งที่ผู้นำสหรัฐฯย้ำว่า ไม่ได้ต้องการสงคราม ไม่ต้องการมีเรื่องขัดแย้งกับอิหร่าน หรือขัดแย้งกับประเทศใดๆก็ตาม สหรัฐฯพร้อมเสมอที่จะเจรจากับผู้นำสูงสุดของอิหร่านด้วยเงื่อนไขเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ อิหร่านต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์!

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

แต่ทางฝั่งรัฐบาลอิหร่านก็ยังยืนกรานเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน คือโครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่มีอยู่นั้นไม่ได้มุ่งหวังพัฒนาเป็นอาวุธ แต่เป็นการพัฒนาเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านพลเรือนเท่านั้น  พร้อมกันนี้อิหร่านยังเรียกร้องไปยังบรรดามหาอำนาจทางยุโรปที่ร่วมลงนามในข้อตกลงยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านฉบับปี 2015  ให้ออกมาช่วยยับยั้งสหรัฐฯ ไม่ให้รังแกอิหร่านด้วย “สงครามทางเศรษฐกิจ” ไม่เช่นนั้น หากถูกบีบมากๆเข้า อิหร่านก็อาจต้องยกเลิกข้อตกลงฉบับนี้เช่นกัน

 

แหล่งข่าวระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯที่เพิ่มเติมเข้ามาเมื่อต้นสัปดาห์เพื่อเป็นการตอบโต้การที่อิหร่านยิงโดรนของสหรัฐฯตกบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ จะตัดช่องทางไม่ให้ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน คือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี และผู้นำอีกหลายคนในกองทัพ สามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนทางการเงินอีกต่อไป ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อปีที่ผ่านมา ก็มีการประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน และมาตรการอื่นๆเพิ่มเติมเป็นลำดับ  

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี

ด้านรัสเซีย พันธมิตรของอิหร่าน ได้ออกโรงเตือนสหรัฐฯว่า แผนการของสหรัฐฯที่จะส่งนายทหารเพิ่มเติมอีก 1,000 นายเข้ามาประจำการในตะวันออกกลางท่ามกลางความตึงเครียดที่มีอยู่แล้วนั้น ถือเป็น การยั่วยุทางการทหาร และเป็น เรื่องที่สร้างความกังวลใจเป็นอย่างมาก นายเซอร์ไก รยาบาคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า สหรัฐฯไม่ควรยั่วยุและสร้างความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะที่นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน กล่าวว่า ทุกฝ่ายควรจะต้องมีความอดกลั้น และรัสเซียก็หวังว่า ฝ่ายอิหร่านเองจะมีความจริงใจและยึดมั่นปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้ในข้อตกลงยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ฉบับปี 2015

 

+กดดันทุกรูปแบบยกเว้นการใช้อาวุธ

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน โลกเพิ่งปาดเหงื่อพร้อมถอนหายใจเฮือก เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจระงับคำสั่งการส่งฝูงบินถล่มฐานที่มั่น 3 แห่งของอิหร่านทางอากาศเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) ซึ่งคำสั่งดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นการตอบโต้ที่อิหร่านยิงโดรน หรืออากาศยานสอดแนมไร้คนขับ ของทัพเรือสหรัฐฯที่บินสำรวจน่านฟ้าสากลบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ 1 วันก่อนหน้านั้น แต่อิหร่านบอกเล่าเรื่องราวแตกต่างออกไป โดยระบุว่า โดรนของสหรัฐฯมีเครื่องบินที่มีนักบินขับประกบติดมาด้วย และบินอยู่ในน่านฟ้าของอิหร่าน แต่อิหร่านก็เลือกที่จะไม่โจมตีเครื่องบินลำที่มีคนขับ

โฉมหน้าอากาศยานสอดแนมไร้คนขับของสหรัฐฯ ที่ถูกอิหร่านสอยร่วงตกกลางทะเล

ผู้นำสหรัฐฯโพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า แผนปฏิบัติการแก้แค้นอิหร่านด้วยการโจมตีทางอากาศถูกยกเลิกก่อนกำหนดการเดิมเพียง 10 นาทีทั้งๆที่การเตรียมอาวุธทุกอย่างก็พร้อมแล้วเพื่อการถล่มในช่วงกลางคืนโดยมีพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่งในอิหร่าน แต่เมื่อถามว่าจะมีคนตายจากปฏิบัติการครั้งนี้สักเท่าไหร่ และได้รับคำตอบว่าประมาณ 150 คน ทรัมป์ก็ตัดสินใจระงับแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพราะเห็นว่าไม่น่าจะเหมาะสมกันหากจะเป็นการแก้แค้นการที่อิหร่านสอยอากาศยานไร้คนขับของสหรัฐฯร่วง

 

อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลกยังต้องตั้งอยู่ในโหมดของการเฝ้าจับตามองสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านด้วยใจลุ้นระทึกต่อไป เพราะการตอบโต้อิหร่านด้วยกำลังทหารและการใช้อาวุธเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่สหรัฐฯ ไม่ได้เลือกใช้ในตอนนี้ แต่ช่องทางอื่นที่เหลือนั้นดูเหมือนผู้นำสหรัฐฯไม่ลังเลที่จะหยิบมาใช้กดดันบีบคั้นอิหร่านในทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการออกคำสั่งโจมตีอิหร่านด้วยยุทธวิธีออนไลน์ หรือ Cyberattack โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะดำเนินปฏิบัติการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของกองทัพอิหร่านที่ใช้ควบคุมการปล่อยจรวดและขีปนาวุธ “ผมไม่รีบร้อน กองทัพของเราก็ทรงพลังและพร้อมรุกอยู่แล้ว เป็นกองทัพที่ถือได้ว่าดีที่สุดในโลกแล้วตอนนี้ มาตรการคว่ำบาตรของเราก็กำลังส่งผล และเราก็เพิ่มการคว่ำบาตรมากขึ้นอีกเมื่อคืนนี้ อิหร่านไม่มีวันที่จะได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ไม่มีวันที่จะเอาอาวุธนิวเคลียร์มาข่มขู่สหรัฐฯ และข่มขู่โลกใบนี้!” ทรัมป์ทวิตเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

+รบกันมีแต่เสียกับเสีย

 เศรษฐกิจอิหร่านเองตกอยู่ในภาวะใกล้วิกฤตนับตั้งแต่ที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงและเริ่มมาตรการคว่ำบาตรกดดันเศรษฐกิจอิหร่านตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปที่กว่า 37% และค่าเงินเรียล สกุลเงินประจำชาติ ก็อ่อนลงมาก จากที่เคยแลกเปลี่ยนกันที่อัตรา 32,000 เรียล/ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็หล่นฮวบมาอยู่ที่กว่า 130,000 เรียล/ดอลลาร์ ในปัจจุบัน มีคนตกงานมากกว่า 3 ล้านคนหรือคิดเป็น 12% ของจำนวนประชากรในวัยทำงานทั้งประเทศ แม้จะเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และก๊าซธรรมชาติอันดับ 2 ของโลก แต่มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกของอิหร่านที่สหรัฐฯเป็นหัวหอก ก็ส่งผลกระทบต่ออิหร่านเป็นอย่างมาก เพราะรายได้จากการส่งออกน้ำมันคือ 1 ใน 3 ของงบประมาณประจำปี

มะกันจัดหนักคว่ำบาตรผู้นำอิหร่าน รัสเซียฮึ่ม! เตือนทรัมป์อย่ายั่วยุ

นักวิเคราะห์ระบุว่า การเพิ่มความตึงเครียดของการเผชิญหน้า ไม่เป็นผลดีกับทั้งสหรัฐฯและอิหร่าน เรียกได้ว่าเป็น สถานการณ์ที่สูญเสียทั้งคู่ (a complete lose-lose situation) แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างที่สุดก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถ “คลายเกลียว” ความตึงเครียดของสถานการณ์ การเจรจาหรือเปิดเวทีหารือกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะหากสหรัฐฯเริ่มโจมตีก่อน อิหร่านจะโต้กลับอย่างแน่นอน ทั้งนี้ บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาความเสี่ยง ยูเรเซีย กรุ๊ป ให้น้ำหนักโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามไว้ที่ 40% เพิ่มขึ้นจาก 30% ในเดือนพฤษภาคม