เอกชนกังวล  ทีมครม.ศก.ใหม่ ไม่ทันเกมค้าโลก

28 มิ.ย. 2562 | 04:30 น.

 

 

สัมภาษณ์

ประเทศไทยได้ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปมาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562 ถึงเวลานี้ผ่านพ้นมานานกว่า 3 เดือนแล้ว แต่โผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ก็ยังไม่นิ่ง และยังต้องลุ้นกลางเดือนกรกฎาคมนี้ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ จะมีโฉมหน้าอย่างไร เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่จะมาจากหลายพรรค จะเป็นความหวังได้หรือไม่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยขาลง จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังยืดเยื้อ เงินบาทแข็งค่ามากสุดรอบ  6 ปี กระทบภาคการส่งออกเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ที่ยังติดลบ และการลงทุนของประเทศชะลอตัว

 

ห่วงทีมศก.พายคนละทาง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ดูแลงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ ส.อ.ท. และภาคเอกชนในภาพรวม ต้องการใน 2 เรื่องเร่งด่วนได้แก่ 1. ต้องการให้มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงเศรษฐกิจบางกระทรวงได้ว่างเว้นไม่มีรัฐมนตรีว่าการฯ มาหลายเดือนแล้ว เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ทำให้การขับเคลื่อนการทำงานทำได้ไม่เต็มที่ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องมีรัฐมนตรีตัวจริงมาดูแลรับผิดชอบ 2. ต้องการทีม ครม.เศรษฐกิจที่แข็ง แกร่ง และผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของรัฐบาลให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

เอกชนกังวล  ทีมครม.ศก.ใหม่  ไม่ทันเกมค้าโลก

                                        เกรียงไกร เธียรนุกุล

“ที่เอกชนห่วงคือ รัฐมนตรีเศรษฐกิจมาจากหลายพรรค ซึ่งแต่ละพรรคมีนโยบายที่ได้หาเสียงไว้แตกต่างกัน เช่น พรรคภูมิใจไทยพูดถึงเรื่องกัญชาเสรี เมืองกีฬา พรรคประชาธิปัตย์พูดถึงเรื่องการดูแลราคาปาล์ม ยาง ข้าว เป็นต้น ขณะที่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตามโผจะนั่งรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมีรัฐมนตรีของพรรคดูแลกระทรวงเกษตรฯ ส่วนคุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจะนั่งรองนายกฯควบรัฐมนตรีสาธารณสุข มีรัฐมนตรีดูแลกระทรวงคมนาคม ขณะที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล มีรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม คำถามคือ ใครคือแม่ทัพเศรษฐกิจตัวจริง เพราะรัฐมนตรีแต่ละพรรคคงไปรายงานรองนายกฯในสังกัดพรรคตัวเองก่อน”

 

ดังนั้นจะมีกลไกอย่างไรที่จะควบคุมดูแลรัฐมนตรีให้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้โครงการที่รัฐบาลได้ประกาศไว้เดินหน้าตามโรดแมปและตามกรอบเวลา เช่นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของอีอีซี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ

นอกจากนี้จากการเป็นรัฐบาลผสม ไม่ใช่รัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และนายกรัฐมนตรีสามารถใช้มาตรา 44 ได้เหมือนเมื่อก่อน เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มนํ้าและมีอำนาจต่อรองไม่มาก การกำกับดูแลให้คณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจอาจไม่เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันอาจทำได้ยากขึ้น และจากที่ว่างเว้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมานานกว่า 5 ปี รัฐมนตรีหลายคนเป็นรัฐมนตรีใหม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้งานอีกหลายเดือน อาจทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้ามีความล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ในห้วงที่เศรษฐกิจ และการค้าโลกขาลง

 

 

จี้เร่ง 2 เรื่องใหญ่

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการคือ 1. การรับมือกับเศรษฐกิจโลกขาลง อันเกิดจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่นับวันรุนแรงขึ้น กระทบทุกประเทศชัดเจนทำให้การส่งออกลดลงรวมถึงประเทศไทยที่การส่งออกช่วง 5 เดือนแรกยังติดลบที่ 2.7% และเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวเพียง 2.8% ตํ่ากว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3% 2.ปัญหากำลังซื้อในประเทศที่ลดลง ทำอย่างไรรัฐบาลชุดใหม่จะมากระตุ้นและฟื้นฟูกำลังซื้อในประเทศให้กลับมาคึกคักได้ จากที่ผ่านมาได้ว่างเว้นรัฐบาลตัวจริงมาขับเคลื่อน ราคาพืชผลทางการเกษตรในภาพ
รวมก็ยังไม่ค่อยดี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีปัญหาขาดสภาพคล่อง 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3482  วันที่ 27-29 มิถุนายน 2562

เอกชนกังวล  ทีมครม.ศก.ใหม่  ไม่ทันเกมค้าโลก