“คสช.-บิ๊กตู่”โล่งศาลปค.สูงสุดตีตกคำร้องขอตรวจสอบก.ก.สรรหาส.ว.

25 มิ.ย. 2562 | 04:53 น.

 

“คสช.-บิ๊กตู่”โล่งศาลปกครองสูงสุด ตีตกคำร้องคณะราษฎรไทยฯ  ขอตรวจสอบคำสั่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ชี้เป็นการใช้อำนาจในฐานะฝ่ายบริหารตามรธน. ไม่ใช่ข้อพิพาททางปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง

วันนี้ (25 มิ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางสั่งไม่รับคำฟ้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติกับพวกรวม 34 คน ที่ยื่นฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง  

โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของทั้งคสช.และนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ 2557 โดยมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้การรองรับ ซึ่งผู้ถูกร้องทั้งสองถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตั้งกรรมการสรรหาส.ว. เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง  

ส่วนที่อ้างว่าศาลปกครองกลางไม่เรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหาส.ว.มาพิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งยกฟ้องนั้น ก็รับฟังไม่ได้ เนื่องจากตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2553 ข้อ 54 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลส่งเอกสารหลักฐานได้ แต่เป็นดุลพินิจของศาลจะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้เมื่อศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณาจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะต้องเรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหาส.ว.ตามที่ร้องขอ

 

เช่นเดียวกับกรณีที่ขอให้นำเรื่องนี้เสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดนั้น ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุด ใช้ดุลพินิจว่าจะนำเรื่องใดเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของทั้งตุลาการ และผู้ร้องจะมีสิทธิเสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้

“คสช.-บิ๊กตู่”โล่งศาลปค.สูงสุดตีตกคำร้องขอตรวจสอบก.ก.สรรหาส.ว.

ด้านนายพลภาขุน เศรษฐญาบดี แกนนำคณะราษฎรไทยแห่งชาติ น้อมรับคำพิพากษา โดยถือว่าการทำหน้าที่ประชาชนเพื่อร้องเรียนตามช่องทางของกฎหมายจบแล้ว แต่ในฐานะประชาชนที่รักความเป็นธรรมยังไม่จบ โดยจะนำเรื่องไปร้องต่อที่สหประชาชาติและสหภาพยุโรปหรืออียู เพื่อให้รู้ว่าตัวแทนปวงชนชาวไทยที่ทำหน้าที่ในสภาไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง

 

พร้อมกับฝากถึงผู้ทำงานด้านกฎหมายว่า เราต่างก็เห็นอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่า กรรมการสรรหาต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ทุกคนรู้ภาษาไทยหมดและเห็นการกระทำของผู้ใช้อำนาจรัฐด้วยกันทั้งสิ้นว่าไม่เป็นไปตามนั้น อยากถามว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญไทยนี้มีไว้เพื่อใคร เพื่อปวงชนชาวไทยจริงหรือไม่ จึงเชิญชวนคนดีทั้งหลายโปรดช่วยปวงชนชาวไทยในภาวะเช่นนี้ด้วย