กองทุนประชารัฐเนื้อหอม  ‘เอสเอ็มอี’ขอกู้เต็มวงเงิน

27 มิ.ย. 2562 | 06:55 น.

ธพว.เผยมีเอสเอ็มอีมาขอกู้ผ่านกองทุนประชารัฐแล้วเต็มวงเงิน ยืนยันไม่มีกรณีให้ลงทุนซื้อเครื่องจักรก่อนมาเบิกเงิน แย้มเตรียมของบเพิ่ม 1 หมื่นล้านช่วยรายเล็ก หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะซบเซา

นายพงชาญ  สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ  ในฐานะรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ว่า ล่าสุดวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 2 พันล้านบาทจากการปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท  โดยมีปริมาณคำขอสินเชื่อเข้ามาแล้วเต็มวงเงินของงบประมาณโครงการ กองทุนประชารัฐเนื้อหอม   ‘เอสเอ็มอี’ขอกู้เต็มวงเงิน

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวแบ่งการดูแลออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ วงเงิน  8 พันล้านบาท มี ธพว.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ  โดยปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วครบเต็มวงเงิน  เนื่องจาก ธพว. มีความเชี่ยวชาญโดยตรงกับการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี  จึงไม่ค่อยมีปัญหาแต่อย่างใดในการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกของธนาคาร ส่วนอีก 1 หมื่นล้านบาท จะมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีการพิจารณาตามขั้นตอนที่มากกว่า โดยอาจจะส่งผลทำให้การอนุมัติสินเชื่อล่าช้าไปบ้าง  ปัจจุบันจึงยังไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้หมด

ส่วนประเด็นปัญหาข้อเรียกร้องจากเอสเอ็มอีถึงกรณีที่จะต้องมีการลงทุนซื้อเครื่องจักรไปก่อนถึงจะสามารถมาเบิกเงินสินเชื่อจากโครงการไปได้นั้น  น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดมากกว่า   เนื่องจากข้อกำหนด หรือวัตถุ ประสงค์ของโครงการก็คือจะต้องไม่เป็นการรีไฟแนนซ์  โดยต้องการให้เป็นสินเชื่อเพื่อนำไปขยายธุรกิจ ซึ่งเอสเอ็มอีเพียงแค่นำใบสั่งซื้อ หรือใบแจ้งหนี้  หรือใบอินวอยซ์ (Invoice) มาแสดง โดยที่ไม่ต้องมีการดาวน์ว่าได้มีการสั่งซื้อเครื่อง จักรกับบริษัทใด คณะกรรมการก็จะมีการตรวจสอบไปยังบริษัทดังกล่าวนั้น เพื่อขอรับคำยืนยัน หลังจากนั้นก็จะจ่ายเงินตรงไปให้กับบริษัทผู้ขาย ไม่ต้องจ่ายผ่านเอสเอ็มอี  

“หากมีการจ่ายเงินซื้อเครื่องจักรไปเรียบร้อย  ตามหลักความเป็นจริงจะไม่มีการให้สินเชื่ออย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินใดก็ตาม อีกทั้งหากเอสเอ็มอีมีเงินเพื่อลงทุน  ก็คงจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาขอสินเชื่อให้เสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด”

นายพงชาญ กล่าวต่อไปอีกว่า  อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้เงินจากโครงการยังไม่ได้ถูกปล่อยสินเชื่อออกไปสู่เอส
เอ็มอีก็คือ ผู้กู้ที่เป็นเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ต้องการนำเงินไปลงทุนสร้างโรงงาน  ซึ่งมีมูลค่า 20 ล้านบาท โดยมาขอสินเชื่อจากโครงการ 10 ล้านบาท  และผู้กู้จ่ายเองอีก 10 ล้านบาท ซึ่งต้องทำความเข้าใจด้วยว่าขั้นตอนในการลงทุนนั้นมีมาก ตั้งแต่การดำเนินการซื้อที่ดิน หลังจากนั้นก็ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาที่ดินก่อนที่จะทำการก่อสร้าง โดยที่บางรายได้รับการอนุมัติไปแล้ว 5-6 เดือน  แต่ยังไม่ได้เข้ามาเบิกเงินไปก็มีอยู่พอสมควร

นายพงชาญ กล่าวอีกว่า จะดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาทจากรัฐบาล  เพื่อนำมาสนับสนุนทางด้านสินเชื่อให้กับเอสเอ็มรายเล็กประมาณ 1 ล้านบาท  โดยมองว่าจะเป็นการช่วยเอสเอ็มอีได้ถึง 1 หมื่นราย  รวมถึงจะเป็นการช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมากในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในช่วงซบเซา

สำหรับในส่วนของเงื่อนไขการให้สินเชื่อจะต้องเป็นเงินที่นำไปหมุนเวียนในธุรกิจ มีระยะเวลาในผ่อนชำระ 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี  ขณะที่พันธกิจเดิมของธนาคารก็จะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยหากเป็นนิติบุคคลจะมีวงเงินให้กู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท  คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3% ซึ่งถือว่าตํ่าที่สุดในระบบเศรษฐกิจ  โดยปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งปี ธพว. ตั้งเป้าที่จะปล่ยสินเชื่อให้ได้ประมาณ 5.72 หมื่นล้านบาท  สูงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ 3.7 หมื่นล้านบาท

“ที่ปล่อยสินเชื่อไปแล้วได้แก่ สินเชื่อ Local Economy ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรประมาณ 400 ล้านบาท และสินเชื่อแฟกตอริง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำงานแล้วเสร็จให้กับหน่วยงานราชการ  และจะต้องรองบประมาณเบิกจ่าย  หากธนาคารเห็นว่าเกิดความล่าช้า  ซึ่งผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบ  เพียงแค่ส่งงานเรียบร้อยธนาคารจะให้ 50% ของงวดงาน  โดยปล่อยไปแล้วประมาณ 2 พันล้านบาท” 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3482 วันที่  27-29 มิถุนายน 2562

กองทุนประชารัฐเนื้อหอม   ‘เอสเอ็มอี’ขอกู้เต็มวงเงิน