ธ.ก.ส.ปั้น A Farm Martหนุนเกษตรกรค้าออนไลน์

23 มิ.ย. 2562 | 03:55 น.

 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) รายงานตัวเลขรายได้เงินสดทางการเกษตรในปีการผลิต 2560/61 อยู่ที่ 197,373 บาท/ปี เพิ่มขึ้น 22.64% จากปี 2559/60 ขณะที่รายจ่ายเงินสดทางการเกษตรอยู่ที่ 122,890 บาท/ปี เพิ่มขึ้น 20.53% ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิ 74,483 บาท/ปี เพิ่มขึ้น 26.29% จากปีก่อน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว ทำให้เชื่อมั่นว่าปี 2562 รายได้เกษตรกรจะยังคงเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งข้าว ยางพารา และปาล์มนํ้ามัน

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี ทั้งยางพาราและปาล์มนํ้ามัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการเก็บสต๊อก ราคาจึงขยับ ซึ่งทั้งปีไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้าวโพด ที่กำลังจะออกมา เพราะมีการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังนา ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ราคาจะลดลง แต่ไม่ได้มากจนน่าใจหาย ยังเป็นราคาที่เกษตรกรรับได้

ธ.ก.ส.ปั้น A Farm Martหนุนเกษตรกรค้าออนไลน์

สมเกียรติ กิมาวหา

ธ.ก.ส.พยายามสร้างช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรลูกค้าผ่าน 4 ขั้น ตลาดแรกคือ ตลาดหน้าสาขาธนาคาร เรียกว่า ตลาดชุมชน ของดีชุมชนสู่สังคม ตลาดขั้นที่ 2 คือ ตลาดระหว่างองค์กร ตลาดระหว่างสถาบัน เช่น สหกรณ์ต่อสหกรณ์ซื้อขายกัน ตลาดขั้นที่ 3 คือโมเดิร์นเทรดต่างๆ แต่ยังมีปัญหาค่าแรกเข้า อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น บิ๊กซี โลตัส จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 5 แสนบาท ธ.ก.ส.จึงใช้กระบวนการตลาดประชารัฐโมเดิร์นเทรดของโครงการรัฐบาล ซึ่งจะไม่มีค่าธรรมเนียมพวกนี้ แต่ก็จะได้ไม่นาน ต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่กับตลาดที่ 4 คือ อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งถือเป็นตลาดขั้นสุดท้าย

“ตอนนี้ถือว่าธ.ก.ส.ได้ดูแลเกษตรกรครบวงจรทั้งด้านการเงิน การผลิต และสุดท้ายเป็นเรื่องการขายซึ่งขณะนี้เรากำลังทดลองการค้าขายสินค้าเกษตรกรลูกค้าผ่านออนไลน์ภายใต้แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมาคือ A Farm Mart เพราะอี-คอมเมิร์ซภาคเกษตรตอนนี้ไม่มี เราไม่ได้มอง Thailand Post หรือโชวห่วย 4.0 แต่จะมองไปที่ลาซาด้า หรือ Shopee เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ ใครเป็นเจ้าของจะคิดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรามองว่า ไม่คุ้ม จึงพัฒนาขึ้นเองจะดีกว่า โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้”

ทั้งนี้ภายใต้แพลตฟอร์ม A Farm Mart เบื้องต้นจะสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. (สกต.) แต่ละจังหวัดเป็นหัวขบวนก่อน 77 แห่ง 77 จังหวัด และผู้ประกอบการที่เป็นหัวขบวนอีก 151 แห่งและผู้ผลิตเองที่ผลิตได้จริงๆ ที่มีอยู่ประมาณ 1,500 รายมาขึ้นทะเบียน และธ.ก.ส.ได้ลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ด้านโลจิสติกส์กับบริษัทไปรษณีย์ไทยฯ เพราะการส่งสินค้าเกษตรบางประเภทต้องมีความรวดเร็ว และระบบชำระเงินทั้งหมดสามารถเชื่อมได้หมดแล้วทั้ง วีซ่า มาสเตอร์การ์ด พร้อมเพย์ และคิวอาร์โค้ด

ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานพร้อมหมดแล้วเหลือระบบอี-ออร์เดอร์กับอี-แค็ตตาล็อก ที่ต้องคุยกับผู้ผลิตให้เข้าใจว่าเมื่ออี-ออร์เดอร์มา ที่เป็นคำสั่งออกมาในมือถือสั่งให้ผลิต ผู้ผลิตจะสามารถส่งได้ภายใน 2 วัน  และการตรวจสอบคุณภาพภายใน 7 วัน ส่วนผู้ประกอบการจะไม่มีค่าลงทะเบียน เทียบกับลาซาด้า 150,000 บาท และ Shopee 100,000 บาท และฟรีค่าขนส่งช่วง 3 เดือนแรก เพราะธ.ก.ส.จะรับภาระให้ แต่เกษตรกรจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร อย่างขายข้าว 100 บาทก็จะได้ 100 บาทไม่โดนหัก 

“เราคุยกับบริษัท ไทยธุรกิจเกษตรฯ ที่มีสกต.เป็นผู้ถือหุ้นว่า บวกราคาได้ไม่เกิน 15% เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการ ซึ่งปกติบริษัทใหญ่ๆ หรือ แอพต่างๆ จะบวก 25-30% เราถูกกว่าและใน 15% นั้นเราให้สกต. ทั่วประเทศที่เป็นหัวขบวน 3% อีก 12% เป็นค่าอี-เพย์เมนต์ ซึ่งเราต้องจ่าย 2.91-5 บาทต่อครั้งตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการ ซึ่งเป็นส่วนน้อย” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,481 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ธ.ก.ส.ปั้น A Farm Martหนุนเกษตรกรค้าออนไลน์