เงินร้อนทะลัก!9หมื่นล้านฟันกำไร3เด้ง

25 มิ.ย. 2562 | 04:55 น.

 

นักวิเคราะห์ชี้ เงินร้อนทะลักไทย 20 วัน 9 หมื่นล้านบาท หวังกำไร 3 ต่อ “ส่วนต่างราคา-บาทแข็ง-ดอกเบี้ย” ชี้แรงเก็งกำไรจะรุนแรงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีเมื่อเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยและกนง.คงดอกเบี้ยที่ 1.75% ด้าน EXIM BANK เตือนผู้ส่งออก เลี่ยงเก็งกำไรค่าเงินทุกกรณี

ช่วงเช้าวันที่ 21 มิถุนายน เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว  30.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี หรือแข็งค่าขึ้นกว่า 4% จากช่วงต้นปี 2562 ทำให้เงินบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่าเป็นอันดับต้นๆของโลก ซึ่งการแข็งค่าดังกล่าวเป็นผลจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ โดยตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในหุ้นไทยแล้วกว่า 2.7 หมื่นล้านบาทและซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรราว 5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 50 จุด 

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงและได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแข็งค่าของเงินบาทคือ ผู้ส่งออกที่ใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศค่อนข้างสูง เช่น ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหรือผู้ส่งออกสินค้าแปรรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก SMEs ที่มีเงินทุนหมุนเวียนและอัตรากำไร(Margin)ไม่สูงนัก และไม่ได้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เท่ากับรายใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า 

เงินร้อนทะลัก!9หมื่นล้านฟันกำไร3เด้ง

“ผู้ส่งออกควรหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรค่าเงินบาทในทุกกรณี แล้วหันมาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลกับค่าเงินในอนาคตและไม่ทำให้เงินในกระเป๋าลดลงโดยใช่เหตุ”    

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สาเหตุเพราะต่างชาติเข้ามาซื้อระยะสั้นรวม 9 หมื่นล้านบาท โดยซื้อพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี 6.3 หมื่นล้านบาทและหุ้น 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินร้อนที่ทะลักเข้ามาเพียง 20 วัน ขณะที่่เม็ดเงินการค้าหรือส่งออกสุทธิยังชะลอตัวและภาคท่องเที่ยวเริ่มติดลบ ซึ่งต้องระวัง ช่วงที่เหลือเงินร้อนพวกนี้อาจไหลออกและเกิดความผันผวนสูง 

เงินร้อนทะลัก!9หมื่นล้านฟันกำไร3เด้ง

นริศ สถาผลเดชา

 

ขณะที่แนวโน้มการเคลื่อน ไหวค่าเงินบาทเป็นไปได้ทั้งแข็งและอ่อนค่า คาดว่าสิ้นปีไม่ทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรตั้งแต่ต้นปี จะได้รับผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน 4%  แต่ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวนสูงจะเป็นข้อดีสำหรับผู้ส่งออก ที่จะมีต้นทุนทำประกันความเสี่ยงลดลง 

“รอบนี้เงินบาทแข็งค่า เพราะเงินร้อนทะลักล้วนๆ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาจทำอะไรได้ไม่มาก เพียงดูแลอยู่ห่างๆ เพราะยังมีประเด็นที่จะเข้าข่ายแทรกแซงค่าเงินตามที่สหรัฐฯจะพิจารณาในเดือนตุลาคมอีกครั้ง ส่วนเศรษฐกิจภาพรวมนั้น ธปท.ดูแลได้ดีอยู่แล้ว โดยหวังว่า เงินลงทุนโดยตรง(FDI)จะกลับมาเป็นบวก หลังมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและแนวโน้มเงินร้อนจะไหลเข้ามาอีกถ้าเราได้เครดิตเรตติ้งดีขึ้น”

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า แนวโน้มเงินทุนไหลเข้ายังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตร สาเหตุจากธนาคารกลาง(เฟด)พลิกกลับนโยบายการเงิน โดยจะปรับลดดอกเบี้ยลงในอนาคต ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเห็นเงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่ง จึงเข้ามาพักเงินในตลาดพันธบัตร ประกอบกับเฟดอาจจะเลือกใช้มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน(Quantitative Easing: QE) โดยเฟดจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ จากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มการไหลเข้าของเงินทุน เพราะต้องยอมรับว่า เงินทุนไหลเข้ามาเพื่อหาผลตอบแทนที่สูง ซึ่งขณะนี้้ทั้งอัตราดอกเบี้ยระยะยาวหรือบอนด์ยีลด์สหรัฐฯตํ่ากว่าไทยแล้ว

“ผมเห็นด้วย ถ้าธปท.จะลงโทษ คนเก็งกำไร หรือคนกระทำความผิดจริง ให้เป็นเยี่ยงอย่างเฉพาะราย แต่ไม่ใช่เหวี่ยงแห ขณะเดียวกันต้องปรับตัวต่อความผันผวนเชิงนโยบาย ซึ่งถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็ช่วยแก้ได้ แต่หากไม่มีเครื่องมือดูแลแนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าต่อ”

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยง สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มพฤติกรรมเก็งกำไรจะรุนแรงขึ้นในช่วงที่เหลือ เมื่อเฟดส่งสัญญาณจะปรับลดดอกเบี้ยและหากกนง. ยังคงยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี ซึ่งทั้งดอกเบี้ยเฟดที่จะปรับลดและกนง.ไม่ทำอะไรจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทให้แข็งค่าต่อไป โดยหวังว่าเงินทุนไหลเข้ามาในอนาคตจะเป็นเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จะเข้ามาทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเฟดใกล้จะลดดอกเบี้ยลงและทำคิวอี ธปท.ควรจะเพิ่มเงินไหลออกโดย เปิดให้นักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น เช่น ออกไปซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นต่างประเทศ ซึ่งน่าจะลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง ส่วนมาตรการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นช่วงที่ผ่านมาก็ไม่เหมาะกับจังหวะปัจจุบัน 

“ถ้าสหรัฐฯลดดอกเบี้ยและทำคิวอีกเงินร้อนจะเข้ามาช่วงที่เหลือ แต่เดือนปลายเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเพิ่งจะมีเงินไหลเข้ามา ซึ่งต่างชาติหวังผลกำไรทั้งในส่วนต่างของราคาบอนด์ อัตราดอกเบี้ยและปีนี้ยังเก็งกำไรจากค่าเงินที่แข็งค่า ซึ่งเฉพาะค่าเงินก็ทำกำไรได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นไทยต้องแก้ปัจจัยพื้นฐานด้วย” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,481 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เงินร้อนทะลัก!9หมื่นล้านฟันกำไร3เด้ง