ป้องกรุง 7 หมื่นล้าน อุโมงค์ยักษ์ไร้ค่า

21 มิ.ย. 2562 | 10:09 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คนกรุงโกลาหล วิกฤตินํ้าท่วมแก้ไม่ตก หลังถมงบเกือบแสนล้านกว่า 10 ปี ยังไม่บรรลุผล อธิการบดีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังวิเคราะห์ความเสียหาย 7 มิ.ย. ฝนกระหนํ่าวันเดียวเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้าน แนะทางออกใช้ประตูปิดเปิดระบายนํ้าอัตโนมัติ-เจาะแก้มลิงใต้ดินสวนจตุจักร-โรงงานยาสูบ เหมือนญี่ปุ่น

กลายเป็นทะเลกรุงเทพฯ ในชั่วพริบตา ทุกครั้งที่ฝนถล่มกรุง สร้างความโกลาหลอย่างแสนสาหัสจากวิกฤติจราจร กระทบผู้คนต้องติดอยู่บนท้องถนนเป็นเวลายาวนาน ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมาสร้างความหวาดผวาให้กับผู้สัญจรไม่เพียง ท้องถนน บ้านเรือนประชาชน แม้แต่ทำเนียบรัฐบาล ตึกไทยคู่ฟ้ายังเกิดนํ้าเอ่อท่วม ส่งผลให้เกิดประเด็นร้อนเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งฟ้าฟาดให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร (กทม.) และกระทรวงมหาดไทยเร่งแก้ปัญหานํ้ารอระบาย ให้สะเด็ดนํ้า

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปช่วงกว่า 10 ปี พบว่ารัฐบาล และผู้ว่าฯ กทม.ในทุกยุคทุกสมัยจะให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณป้องกันบรรเทาปัญหานํ้าท่วม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หวังลดผลกระทบคนเมือง โดยแต่ละปีเกือบหมื่นล้านบาท แต่ดูเหมือนทุ่มเม็ดเงินไปเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถไล่ตามปัญหาได้ทัน

ป้องกรุง 7 หมื่นล้าน  อุโมงค์ยักษ์ไร้ค่า

 

2ผู้ว่าฯใช้งบ6หมื่นล้าน

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกทม. ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ด้านการระบายนํ้าและบำบัดนํ้าเสีย ไล่เลียงตั้งแต่ช่วงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. 2 สมัย รวมเวลา 7 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2552- 18 ตุลาคม 2559 พบว่าใช้งบประมาณไป 4.2 หมื่นล้านบาท

หลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถูกปลดกลางอากาศด้วยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 และให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นมาทำหน้าที่แทน พล.ต.อ.อัศวิน ในฐานะมวยแทนเข้ามาทำงาน 3 ปี (18 ต.ค.59-ปัจจุบัน) ใช้งบด้านการระบายนํ้าและบำบัดนํ้าเสียไปแล้วกว่า 1.89 หมื่นล้านบาท รวมผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 2 คน ใช้งบรวมกัน 6 หมื่นล้านบาท

ป้องกรุง 7 หมื่นล้าน  อุโมงค์ยักษ์ไร้ค่า

ล่าสุดในการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 พล.ต.อ.อัศวิน เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงินรวม 83,398.92 ล้านบาท และในด้านการระบายนํ้าและบำบัดนํ้าเสียของบไว้ที่ 9,863.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.88% 

ขณะที่ภารกิจหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรงบด้านการระบายนํ้าคือสำนักการระบายนํ้า กทม. พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาปี 2552-2562 ได้รับการจัดสรรงบรวมกัน 57,661 ล้านบาท โดยปีที่ได้รับการจัดสรรสูงที่สุดคือปี 2559 ในยุคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จำนวนกว่า 8,080 ล้านบาท และหากสภากทม.อนุมัติงบปี 2563 ตามที่ พล.ต.อ.อัศวิน ของบด้านการระบายนํ้า วงเงิน 9.8 พันล้านบาท จะทำลายสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอย่างราบคาบ จะทำให้งบประมาณด้านการระบายนํ้าตั้งแต่ปี 2552-2563 มีวงเงินรวม 7 หมื่นล้านบาท

ป้องกรุง 7 หมื่นล้าน  อุโมงค์ยักษ์ไร้ค่า

ระบายนํ้า-อุโมงค์ยักษ์ไร้ผล

นอกจากนี้ หากย้อนตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่ผ่านมติครม.เกี่ยวกับการบริหารจัดการ นํ้าและแก้ไขปัญหานํ้าท่วมใน กทม. พบว่ามีหลายโครงการ อาทิ วันที่ 13 สิงหาคม 2556 ครม.เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครง การก่อสร้างอุโมงค์ระบายนํ้าใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่นํ้าเจ้าพระยา วงเงินโครงการทั้งสิ้น 2,483,548,000 บาท และวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารและควบคุมงานโครงการ จำนวน 41,148,000 บาท ซึ่งรัฐบาลจะสนับ สนุนงบประมาณอุดหนุนวงเงินค่าก่อสร้างในอัตรา 50% และใช้เงินงบประมาณของ กทม. 50%

วันที่ 17 สิงหาคม 2559 ครม.อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างระบบระบายนํ้าในถนนสายหลักพื้นที่ กทม. 11 โครงการ เป็นเงิน 2,208,790 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (ผูกพันงบปี 2559-2560) เพื่อแก้ปัญหานํ้าท่วมในถนนสุขุมวิท ถนนศรีอยุธยา ถนนพหลโยธิน ฯลฯ

ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2562 ครม.อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทย โดย กทม.ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร จากถนนเทศบาลสงเคราะห์ถึงสุดเขต กทม. ระยะเวลา 4 ปี (ปีงบประมาณ 2562-2565) วงเงิน 3,443 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากเงินอุดหนุนรัฐบาลและเงินรายได้ของกรุงเทพมหานคร ในสัดส่วน 50:50

 

 

เมืองเต็มไปด้วยคอนกรีต

แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกทม.สะท้อนกายภาพของเมือง องค์ประกอบส่วนใหญ่เต็มไปด้วยคอนกรีต มีการก่อสร้างตึกสูง รถไฟฟ้า สาธารณูปโภครัฐจึงไม่มีพื้นที่ว่างที่เป็นผิวดินดูดซับส่งผลให้การระบายนํ้าเป็นไปอย่างล่าช้า ต้องอาศัยท่อสาธารณะเพียงอย่างเดียว ทั้งนํ้าจากบ้านเรือนประชาชน, ปริมาณ นํ้าท่วมขังบนถนนสายสำคัญ และนํ้าฝน หากมีปริมาณเกิน 130 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เหมือนวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา อีกทั้งปัญหาขยะ เกิดจากความไม่ร่วมมือกันของพลเมือง จนเกิดการอุดตัน

สำหรับการแก้ไขกทม. ได้ลอกท่อระยะทาง 6,400 กิโลเมตร ล่าสุด ดำเนินการแล้ว 3,000 กิโลเมตร ยืนยันว่ามีการวางแผนทุกวันและเน้นเข้าพื้นที่ในเวลากลางคืน

ป้องกรุง 7 หมื่นล้าน  อุโมงค์ยักษ์ไร้ค่า

กลางเมืองอ่วม “ท่อเล็ก”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนักสุดสร้างผลกระทบนํ้าท่วมซํ้าซาก คือถนนสุขุมวิท กับ พหลโยธิน มีขนาดท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร มีสภาพเก่าอายุกว่า 40-50 ปี ไม่สามารถแก้ไขได้ ทำได้วิธีเดียวคือใช้วิธีฝังอุโมงค์ใต้ผิวจราจร ช่วยสูบนํ้าออกจากท่อลงสู่คูคลอง ได้แก่ ถนนเอกมัย (สุขุมวิท 63) สุขุมวิท 9 (นานาใต้) สุขุมวิท 31 สุขุมวิท 21 สุขุมวิท 4 สุขุมวิท 107 (ลาซาล) สุขุมวิท 39 หน้า ม.เกษตรฯ, ถนนศรีอยุธยา ขณะถนนก่อสร้างใหม่จะใช้ท่อขนาดใหญ่ 120 เซนติเมตร-2 เมตร นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างเขื่อนคลองเปรม 400 เมตร หลังได้งบประมาณปี 2562 เพียง 60 ล้านบาท

ป้องกรุง 7 หมื่นล้าน  อุโมงค์ยักษ์ไร้ค่า

แนะทำแก้มลิงใต้ดิน

ขณะที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะนายกสภาวิศวกร กล่าวว่า กายภาพพื้นที่ของกทม.ตํ่ากว่าระดับแม่นํ้าเจ้าพระยา 2 เมตร ทำได้แต่เพียงสูบนํ้าออกนอกพื้นที่เท่านั้น

สำหรับทางออกระยะยาว กทม.ต้องทำแก้มลิงใต้ดิน แก้นํ้าท่วมระยะยาว เหมือนประเทศญี่ปุ่น บริเวณโรงงานยาสูบ และสวนจตุจักร ขนาดความกว้าง 50 เมตร ยาว 100 เมตร ลึก 20 เมตร สามารถรับนํ้าได้ 1 แสนลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ จะต้องเลิกใช้คนปิด-เปิดประตูนํ้า เพื่อความรวดเร็ว แต่ควรหันมาใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติแทน เพื่อลดผลกระทบจากบทเรียนความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท เฉพาะวันที่ 7 มิถุนายน 2562 เพียงไม่กี่ชั่วโมง 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,480 วันที่ 20 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ป้องกรุง 7 หมื่นล้าน  อุโมงค์ยักษ์ไร้ค่า