ตลกร้าย! เกษตรกรไทยอู้ฟู่ ติดกระเป๋าจ่ายหนี้ พันห้า

23 มิ.ย. 2562 | 01:00 น.

สัปดาห์ที่ผ่านมาบรรดาผู้นำในรัฐบาลออกมาแสดงความดีใจที่ราคาสินค้าเกษตรและรายได้ครัวเรือนเกษตรกรเฉลี่ยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 370,040 บาทต่อปี พร้อมตอกยํ้าความสำเร็จอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการเกษตร ตลาดนำการผลิต การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน

ถ้าดูจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่ารายได้ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 309,278 บาท ในฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 มาอยู่ที่ 370,040 บาทในฤดูกาลผลิต 2560/2561 หรือเพิ่มขึ้น 60,762 บาท ประกอบด้วย รายได้ที่มาจากการทำการเกษตร 197,373 บาท เพิ่มขึ้นจาก 160,9325 บาท ในฤดูกาลผลิต 2559/2560 จำนวน 36,441 บาท และรายได้นอกภาคเกษตร 172,667 บาท เพิ่มขึ้นจาก 148,346 บาทในฤดูกาลผลิต 2559/2560 จำนวน 24,321 บาท

ขณะที่รายจ่ายโดยรวมของเกษตรกรเพิ่มจาก 243,178 บาท ในฤดูกาลผลิต 2559/2560 มาอยู่ที่ 297,984 บาท หรือเพิ่มขึ้น 54,806 บาท โดยมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร 122,890 บาท และรายจ่ายเงินสดนอกการเกษตร 175,094 บาท

ส่งผลให้รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเพิ่มจาก 207,321 บาทในฤดูกาลผลิต 2559/2560 เป็น 247,150 บาท หรือเพิ่มขึ้น 39,829 บาท และรายได้สุทธิทาง การเกษตรในฤดูกาลผลิตปี 2560/ 2561 เพิ่มจาก 58,975 บาท ในฤดู กาลผลิต 2559/2560 เป็น 74,483 บาทในฤดูกาลผลิตปี 2561

ตลกร้าย!  เกษตรกรไทยอู้ฟู่ ติดกระเป๋าจ่ายหนี้ พันห้า

สำนักงานเศรษฐกิจการ เกษตรระบุว่า ในปี 2561 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสาขาพืชเป็นหลัก อาทิ ข้าว สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 56,123 บาทต่อครัวเรือน ไม้ผล ไม้ยืนต้น สร้างรายได้ 46,854 บาทต่อครัวเรือน และพืชไร่ สร้างรายได้ 32,072 บาทต่อครัวเรือน พร้อมเชื่อว่าในปี 2562 รายได้เกษตรกรยังคงเพิ่มขึ้นจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ จากปัจจัยสนับสนุนของสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตและการบริหารจัดการนํ้าที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตร และการวางแผนการผลิตที่สอด คล้องกับความต้องการของตลาดส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรในปีหน้ายังคงขยายต่อเนื่อง

แม้ว่ารายได้เกษตรกรจะปรับตัวดีขึ้น แต่อย่าเพิ่งดีใจกับข้อมูล เพราะถ้าเจาะลึกในรายละเอียดจะพบว่า ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกรที่สศก.เปิดเผยนั้น เป็นการคำนวณภายใต้สมมติฐาน ครัวเรือนเกษตรกร 1 ครอบครัวมีสมาชิก 3.8 คน และเป็นรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี

ถ้าลองเอาตัวเลขตรงนี้มาคำนวณเป็นรายได้เกษตรกรต่อคนต่อเดือนแล้วจะพบข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะใน 1 เดือนเกษตรกรจะมีรายได้ต่อคนเฉลี่ยเพียง 8,114 บาท หรือวันละประมาณ 270 บาทเท่านั้น โดยรายได้เงินสดทางการเกษตร 4,328 บาทต่อเดือน และรายได้เงินสดนอกการ เกษตร 3,786 บาทต่อเดือน

ตลกร้าย!  เกษตรกรไทยอู้ฟู่ ติดกระเป๋าจ่ายหนี้ พันห้า

ขณะที่รายจ่ายรวมจะอยู่ที่ 6,534 บาทต่อเดือน ประกอบด้วย รายจ่ายเงินสดทางการเกษตรค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์และอื่นๆ 2,694 บาทต่อเดือน และรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร 3,839 บาทต่อเดือน

เมื่อนำรายได้และรายจ่ายมาหักลบกันแล้วเกษตรกร 1 คนจะมีรายได้เงินสดสุทธิ 5,419 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้เงินสดทางการเกษตร 1,633 บาท และมีเงินสดเหลือ ก่อนจ่ายหนี้ 1,580 บาทต่อเดือน

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าดูจากค่าจ้างแรง งานภาคเกษตรจะพบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นที่น้อยมาก โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นน้อยมาก จาก 4,695.67 บาท ในเดือนมกราคม 2555 มาอยู่ที่ 5,967.5 บาทต่อเดือนในเดือนมีนาคม 2562 หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1,272 บาทเท่านั้น ตํ่ามากเมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างแรงงานโดยรวมในไตรมาสแรกปีนี้ที่ 12,388 บาทต่อเดือน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะนี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรของไทยกว่า 11 ล้านคน 

ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3481 ระหว่างวันที่ 23 - 26 มิถุนายน 2562

ตลกร้าย!  เกษตรกรไทยอู้ฟู่ ติดกระเป๋าจ่ายหนี้ พันห้า