พิษเทรดวอร์ "ททท." โชว์ตัวเลขทัวริสต์ 6 เดือนแรกโตแค่ 2 %

21 มิ.ย. 2562 | 05:49 น.

           ททท.ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วง 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ในสภาวะทรงตัว เติบโตเพียง 2% เหตุจากแรงกดดันของภาวะตึงเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลาง สงครามการค้า รวมถึงการเติบโตของคู่แข่งขัน  แต่คาดไตรมาส 3 มีแนวโน้มฟื้นตัว คาดต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น7%

ยุทธศักดิ์ สุภสร


          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน2562)ในภาพรวมคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวไทยอยู่ในภาวะทรงตัว ขยายตัวเพียง 2 % หรืออยู่ที่ 19.9 ล้านคน ซึ่งมีต่างชาติมาเที่ยวไทย19.9 ล้านคน สร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาทเติบโต3%
            โดยหลายภูมิภาคอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากแรงกดดันทั้งปัจจัยภายนอกที่สถานการณ์โลกอยู่ในภาวะตึงเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลาง การเริ่มปะทุของสงครามการค้าและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ รวมถึงการเติบโตของคู่แข่งขัน ผนวกกับปัจจัยภายในประเทศไทย เช่น การฟื้นตัวของตลาดจีนที่แผ่วลงในช่วงไตรมาส 2 , แนวโน้มเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า
          อย่างไรก็ตาม ตลาดระยะใกล้ เช่น อาเซียนและเอเชียใต้ ยังคงมีทิศทางการเติบโตที่ดี จากความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในภูมิภาค และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa On Arrival

         ทั้งนี้ภูมิภาคที่จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตดี : เอเชียใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 อาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3

         ภูมิภาคที่จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในภาวะทรงตัว : เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 แอฟริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ยุโรปรวมถึงโอเชียเนีย ลดลงร้อยละ 0.7

          ภูมิภาคที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัว : ตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 6 

       พิษเทรดวอร์ "ททท." โชว์ตัวเลขทัวริสต์ 6 เดือนแรกโตแค่ 2 %

         หากแยกเป็นสถานการณ์ตลาดหลัก  จะพบว่า ตลาดที่เติบโตดีด้านจำนวนนักท่องเที่ยว : ส่วนใหญ่เป็นตลาดระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย (+9%), มาเลเซีย (+7%), ลาว (+4%), เวียดนาม (+4%), ไต้หวัน (+12%), ญี่ปุ่น (+11%), ฮ่องกง (+7%), เกาหลีใต้ (+6%) และอินเดีย (+21%) ขณะที่ตลาดระยะไกล ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และยุโรปตะวันออก (+5)

       พิษเทรดวอร์ "ททท." โชว์ตัวเลขทัวริสต์ 6 เดือนแรกโตแค่ 2 %

          โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเข้มแข็งของประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ และเวียดนาม การยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ให้แก่ 20 ประเทศ และ 1 เขตปกครองพิเศษ ซึ่งเห็นผลการเติบโตอย่างชัดเจนในตลาดจีน อินเดีย ไต้หวันและยุโรปตะวันออก (ยูเครน,คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน)  การเปิดเที่ยวบินเส้นทางใหม่ เช่น หลวงพระบาง(ลาว)-เชียงใหม่, กัวลาลัมเปอร์(มาเลเซีย)-หัวหิน, ญาจาง(เวียดนาม)-กรุงเทพฯ, เกิ่นเทอ(เวียดนาม)-กรุงเทพฯ, อิชิกาว่า(ญี่ปุ่น)–กรุงเทพฯบังกาลอร์(อินเดีย)-ภูเก็ต, รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบิน เช่น ไทเป (ไต้หวัน)-เชียงใหม่ (Air Asia) จาก 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์  วันหยุดยาวต่อเนื่องพิเศษ 10 วันช่วง Golden week ของญี่ปุ่น

       พิษเทรดวอร์ "ททท." โชว์ตัวเลขทัวริสต์ 6 เดือนแรกโตแค่ 2 %

 

           ส่วนตลาดที่อยู่ในภาวะทรงตัว : ได้แก่ กัมพูชา (+3%), สหราชอาณาจักร (+3%), ฝรั่งเศส (+2%), ออสเตรเลีย (-0.6%), สิงคโปร์ (-0.8%), จีน (-3%), เยอรมนี (-1%) และรัสเซีย (-2%),

            โดยมีปัจจัยอุปสรรค คือ เศรษฐกิจชะลอตัวในยุโรปและออสเตรเลียจากปัญหาของแต่ละประเทศ เช่น การประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐบาลของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส, อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของเยอรมนีชะลอตัว, ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงจากปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง และการส่งออกไปจีนได้ลดลงจากการแบน Huewei, เศรษฐกิจรัสเซียได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากถูกสหรัฐคว่ำบาตร และราคาน้ำมันโลกตกต่ำตั้งแต่ปลายปี 2561 ความไม่ชัดเจนของแนวทางออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน การลดเที่ยวบินจากเยอรมนีและออสเตรเลียมายังประเทศไทย เช่น สายการบิน Eurowings หยุดบินเส้นทางโคโลญจ์ – ภูเก็ต 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์และโคโลญจ์-กรุงเทพฯ 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์, Emirate หยุดบินเส้นทางซิดนีย์-กรุงเทพฯ

 

            ส่วนตลาดที่ชะลอตัว : ได้แก่ สวีเดน (-10%) และตะวันออกกลาง(-6%) ปัจจัยอุปสรรค เกิดจาก

เศรษฐกิจสวีเดนอยู่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายและเลือกที่จะออมมากขึ้นแทน สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจประเทศอิหร่านระลอกใหม่ต้นเดือนพฤษภาคม  


         นายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นราว 7% คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 9.7 ล้านคนในช่วงไตรมาสนี้ สร้างรายได้ 5.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%  เพราะเกือบทุกภูมิภาคมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการฟื้นตัวกลับมาจากภาวะตลาดซบเซาอยู่ในแดนลบในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
             ตลาดเอเชียจะยังคงเป็นตลาดหลักที่มีแนวโน้มเติบโตดี จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง และการฟื้นตัวกลับมาเติบโตในแดนบวกของตลาดจีนหลังจากติดลบกว่าร้อยละ 10 ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเริ่มเห็นการหดตัวที่น้อยลงตามลำดับในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางจะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่จากการคว่ำบาตรเศรษฐกิจประเทศอิหร่าน และราคาน้ำมันโลกที่ผันผวน  

             ตลาดที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ จีน 2.6 ล้านคน (+12%) (ปี 2561 :  - 9%)มาเลเซีย  1.1 ล้านคน (+5%) ลาว  4.9 แสนคน (+6%) เกาหลีใต้ 4.8 แสนคน (+6%) ญี่ปุ่น4.8 แสนคน (+4%)ส่วนตลาดที่สร้างรายได้มากที่สุด คือ จีน 1.6 แสนล้านบาท (+17%) (ปี 2561 : - 6%)มาเลเซีย 3.3 หมื่นล้านบาท (+9%)เกาหลีใต้  2.4 หมื่นล้านบาท (+9%) ญี่ปุ่น2.2 หมื่นล้านบาท (+8%)ออสเตรเลีย 2.0 หมื่นล้านบาท (+6%)    

       พิษเทรดวอร์ "ททท." โชว์ตัวเลขทัวริสต์ 6 เดือนแรกโตแค่ 2 %       
             ปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 คือ การขยายเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on arrival ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจากการกลับเข้าสู่การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเติบโตดี ตามการคาดการณ์ของ IMF เที่ยวบินใหม่: เที่ยวบินประจำ : Air Asia เส้นทาง  Jakata – Phuket 3 เที่ยว/สัปดาห์, Fukuoka-BKK 4 เที่ยว/สัปดาห์, เที่ยวบินเช่าเหมาลำรัสเซีย : จากเมือง Krasnojarsk, Vladivostok,Moscow และ Khabarovsk เข้าสู่อู่ตะเภา,กระบี่, ภูเก็ตและกรุงเทพฯ กว่า 30 เที่ยวบิน การดำเนินงานของ ททท.เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง เช่น ลงนามความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยกับธุรกิจรายใหญ่ของจีน อาทิ  Alipay, China Travel Service (CTS)
             สำหรับประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทั้งผลกระทบโดยตรงกับประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน และผลกระทบต่อเนื่องกับประเทศคู่ค้าของทั้งสองประเทศ การรุกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งขัน เช่น เวียดนาม   ความยืดเยื้อของสถานการณ์การประท้วงใหญ่ในฮ่องกง การยุติการให้บริการของสายการบิน Jet airways จากภาวะล้มละลาย ซึ่งเป็นสายการบินรายใหญ่ของอินเดีย