จากเหตุการณ์(ดับ)ฉุกเฉิน ถึงเวลายกเครื่ององค์กรแอร์พอร์ตลิงค์ ??

29 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
แม้เหตุการณ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จอดเสียฉุกเฉิน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2559 ผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่หายไปกับสายลมแสงแดด ล่าสุดนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข รักษาการซีอีโอบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) สรุปข้อมูลรายงานให้ทราบเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาแล้ว

 เหตุการณ์วันที่ 21 มีนาคมไม่เหนือความคาดหมาย

เหตุการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นเหตุการณ์เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะผู้เกี่ยวข้องหลายคนทราบดีว่าอุปกรณ์สำคัญของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์นั้นครบวาระการใช้งาน 1.2 ล้านกิโลเมตรมานานแล้ว จำเป็นต้องซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ โดยได้มีการย้ำชัดเจนจาก พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ประธานบอร์ด รฟฟท. และ พล.อ.ดรัณ รักษาการซีอีโอแอร์พอร์ตลิงค์ ไปถึงผู้บริหารระดับสูง ร.ฟ.ท.อย่างต่อเนื่องว่าหากปล่อยไว้ไม่เร่งดำเนินการจะเกิดเหตุฉุกเฉินได้ อีกทั้งยังได้มีการนำเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปยัง ร.ฟ.ท. เพื่อทำการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่นี้คิดเป็นเงินกว่า 360 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับดำเนินการซ่อมบำรุงดังกล่าว

[caption id="attachment_40798" align="aligncenter" width="500"] Airport Link Airport Link[/caption]

 รฟฟท.-ร.ฟ.ท.โยนกลองวุ่น

แต่ดูเหมือนว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ผู้บริหารระดับสูงทั้ง รฟฟท.และ ร.ฟ.ท.จะให้ข่าวผ่านสื่อเสมอว่างบประมาณและวิธีการดำเนินการขออนุมัติตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นใครทำให้ล่าช้ากันแน่??? เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์จะพบว่ามีการให้ข่าวกับสื่อจากผู้บริหาร รฟฟท.ทันทีว่า เพราะไม่ได้รับอำนาจจัดซื้อจัดจ้างจาก ร.ฟ.ท.จึงทำให้การจัดซ่อมล่าช้าจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น แต่เพียงชั่วเวลาไม่กี่ชั่วโมง นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่า ร.ฟ.ท.ก็ออกหนังสือชี้แจงผ่านสื่อทันทีว่าบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้มอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างไปให้ รฟฟท.เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้ดึงเรื่องให้ล่าช้าแต่อย่างใด

สอดรับกับที่นายสราวุธ เบญจากุล ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)ร.ฟ.ท.ที่กล่าวว่าพร้อมให้ความร่วมมือ รฟฟท. เพราะ ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% ไม่มีเหตุใดที่จะไม่ร่วมมือและทำให้มีข้อขัดข้อง รฟฟท. เสียหายก็มีผลกระทบต่อ ร.ฟ.ท. ด้วยส่วนกรณีการจัดซื้อ 7 ขบวนแอร์พอร์ตลิงค์ที่มีผู้สนใจรายเดียวนั้นวันที่ 29 มีนาคมนี้ ผลการประชุมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ได้แจ้งให้เสนอเรื่องเร่งด่วนของแอร์พอร์ตลิงค์ให้บอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาแล้ว ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้น คงจะทราบผลภายหลังการประชุมดังกล่าวว่าจะสามารถเซ็นสัญญากับผู้ที่ได้ยื่นเสนอราคามาเพียงรายเดียวได้หรือไม่

ประการหนึ่งนั้นยังมีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงจะยังไม่ทราบหรือรู้สึกผิดสังเกตบ้างเมื่อไปใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ผ่านช่วงสถานีรามคำแหงคือ จะได้ยินเสียงดังตึงๆ เสมือนรถวิ่งข้ามจุดต่อเชื่อมที่ไม่เรียบ กรณีดังกล่าวนี้นายพีระกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แอร์พอร์ตลิงค์ กล่าวว่าการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่นี้เริ่มขึ้นในช่วงที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอ ขณะนั้นใช้งบราว 200 ล้านบาท ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนการเสนอเพิ่มเป็นเกือบ 400 ล้านบาท บอร์ด ร.ฟ.ท.ได้พิจารณาหลายรอบ พร้อมให้ข้อสังเกตหลายประการ โดยอนุมัติให้ใช้วิธีพิเศษก่อน 3 รายการ คงเหลือ 14 รายการที่จะใช้วิธีอีออกชันไปดำเนินการล่าสุดวันที่ 29 มีนาคมนี้จะมีการเสนอให้ใช้วิธีพิเศษกับ 14 รายการที่เหลือทั้งหมด

สำหรับปมจุดเกิดเหตุนั้นเป็นเพราะได้มีการแบ่งช่วงของการติดตั้งระบบไฟฟ้าเอาไว้เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงจากรามคำแหงไปสนามบินสุวรรณภูมิ กับช่วงรามคำแหงไปพญาไทเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านบริการและเพื่อความปลอดภัย แต่จะมีช่วงจุดบอดของระบบไฟฟ้าหรือส่วนที่เป็นช่วงรอยต่อสัญญาณที่มีระยะประมาณ 10-20 เมตรในช่วงรามคำแหงซึ่งเป็นจุดบริเวณที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมานั่นเองเนื่องจากรถไฟวิ่งไปหยุดในบริเวณดังกล่าวพอดีและแบตเตอรี่สำรองในตัวรถยังใช้งานไม่ได้ แนวทางแก้ไขจึงต้องหารถไปดันหรือลากให้ไปอยู่ในระยะที่มีไฟฟ้าให้บริการต่อไปได้ แต่เนื่องจากระยะเกิดเหตุใช้เวลานานทำเอาผู้โดยสารรอไม่ไหวจึงหาทางออกฉุกเฉินลงมาเดินบนพื้นที่รางส่งผลให้ต้องปิดระบบไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย ต่อมาเมื่อผู้โดยสารพ้นทางจึงใช้รถลากไปยังสถานีใกล้เคียงเพื่อนำไปแก้ไขให้แล้วเสร็จต่อไป

 เปิดไส้ในงบซ่อมเกือบ 400 ล้าน

ด้านแหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.รายหนึ่งได้กล่าวถึงประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับกรณีงบประมาณการจัดซื้ออะไหล่ตลอดจนงบประมาณการซ่อมบำรุงแต่ละปีจะพบว่า ร.ฟ.ท.จ่ายให้รฟฟท.รวมเกือบ 800 ล้านบาท ประกอบไปด้วยงบเพื่อการใช้เป็นค่าเงินเดือนพนักงานประมาณ 300 ล้านบาท และงบเพื่อการซ่อมบำรุงอีกประมาณ 400 ล้านบาท. โดยงบในส่วนหลังนี้รฟฟท.สามารถตัดสินใจสั่งซื้ออะไหล่ได้เลยทันที อีกทั้งยังได้ผ่านกระบวนการจัดซื้อมาแล้วถึง 2 ครั้ง ประการหนึ่งนั้นเพื่อให้การเสนอเรื่องให้ ร.ฟ.ท.พิจารณารวดเร็วขึ้นผู้ว่า ร.ฟ.ท.ยังได้เสนอให้ รฟฟท. ทำเรื่องเสนอเป็นแพ็กเกจทีเดียวทั้ง 8 สถานี เพียงแต่เมื่อผ่านขั้นตอนที่บอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติไปแล้วจะต้องนำไปดำเนินการตามกรอบงบประมาณที่ รฟฟท.มีอำนาจดำเนินการ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้รฟฟท.ส่งเรื่องให้บอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาไป เมื่อการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.ครั้งล่าสุดที่ผ่านมาแต่ปรากฏว่าเรื่องดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ได้ผ่านการนำเข้าพิจารณาของบอร์ด รฟฟท.แต่อย่างใด อีกทั้งยังต้องมีแก้ไขในรายละเอียดอีกบางส่วน บอร์ด ร.ฟ.ท.จึงส่งเรื่องคืนไปแก้ไขแล้วนำเข้าพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 29 มีนาคมนี้ อีกทั้งงบประมาณราว 400 ล้านบาทที่ รฟฟท.ได้รับอนุมัติในแต่ละปีนั้นได้มีการจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมบำรุงอย่างมีประสิทธิภาพ ปฏิบัติตามแผนการซ่อมบำรุงหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีการซ่อมระบบไฟสำรองที่เชื่อแน่ว่าจะต้องมีข้อมูลระบุว่าครบกำหนดเมื่อใด

 ลุ้นความชัดเจนสังกัดแอร์พอร์ตลิงค์

แต่หากเกี่ยวข้องกับระยะเวลาการจัดซื้อตามที่อ้างโดยโยนกันไปมาระหว่าง 2 หน่วยงานจนเกิดความเสียหายขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วต้องเดาใจกันว่า "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" หรือ "ออมสิน ชีวะพฤกษ์" 2 รัฐมนตรีคมนาคม จะกล้าฟันธงหรือไม่ สิ่งสำคัญปมที่ยังกังขาของอีกหลายคนที่ว่าผู้บริหารกระทรวงคมนาคมจะเอาแอร์พอร์ตลิงค์ไปไว้ในส่วนไหนกันแน่ เพราะตามที่ปรากฏเป็นข่าวออกมาตามสื่อต่างๆว่าจะทยอยโอนย้ายบุคลากรของ รฟฟท.ไปทำหน้าที่เดินรถไฟฟ้าสายสีแดงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะโยกกิจการเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ประเคนให้เอกชนรับได้ดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุน(พีพีพี) ซึ่งกระบวนการปฏิบัตินั้นคงจะใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 3-4 ปีกว่าจะสำเร็จ

ดังนั้นจึงต้องจับตากันต่อไปว่าช่วงระยะเวลาที่เหลือกับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่า ร.ฟ.ท.คนปัจจุบันอีกประมาณ 4 ปีนั้นจะดำเนินการได้ทันกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงหรือไม่ แอร์พอร์ตลิงค์จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใดคงจะได้เห็นคำตอบชัดเจนยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 25 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559