เปิดร่างพ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน พ.ศ...

28 มี.ค. 2559 | 10:00 น.
ร่างพระราชกฤษฎีกานี้มี 47 มาตรา มีสาระสำคัญ คือให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน (องค์กรมหาชน) ขึ้น มีวัตถุประสงค์ 6 ข้อ ประกอบด้วย

1.ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือองค์กรสัมมาชีพชุมชน เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การสร้างรายได้ และประสานให้ชุมชนเข้มแข็ง 2.ผสานความร่วมมือให้เกิดองค์กรสัมมาชีพชุมชน 3.สร้างความร่วมมือองค์กรสัมมาชีพชุมชนทุกระดับ 4.ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคเอกชน ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดข้อมูลและเทคโนโลยีการประกอบสัมมาชีพ 5.บริการให้คำปรึกษาและให้บริการด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง และ 6.ประสานความร่วมมือภาคียุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ

โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1.ประสานงานการส่งเสริมองค์กรสัมมาชีพชุมชน 2.ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับสัมมาชีพชุมชน 3.ส่งเสริมและแนะนำให้องค์กรสัมมาชีพชุมชน มีบทบาทที่เหมาะสมในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง 4.ทำฐานข้อมูลองค์กรสัมมาชีพชุมชน 5.ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน 6.จัดหา จำหน่าย ทำนิติกรรม หรือดำเนินการใด เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทั้งในและนอกประเทศ 7.-8.แต่งตั้ง และ/หรือรับเป็นตัวแทน นายหน้า มอบหมาย หรือว่าจ้างบุคคลประกอบกิจการให้บรรลุวัตถุประสงค์สถาบัน 9.ร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน 10.กู้ยืมเงินเพื่อการดำเนินงาน 11.เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินการของสถาบัน และ12. กระทำการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สถาบัน

หมวด 2. ทุน รายได้ และทรัพย์สิน ระบุรายละเอียดให้ที่มาของทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานประกอบด้วย 1.ทุนประเดิมจากรัฐ 2.เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐจัดสรรตามความเหมาะสมรายปี 3.เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอื่น รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ 4.ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ รายได้จากการดำเนินงาน และดอกผลจากทรัพย์สินสถาบัน

การบริหารและการดำเนินการ ให้มีคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน ประกอบด้วย 1.ประธานกรรมการ 1 คน ที่ครม.แต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาชุมชนหรือบริหารองค์กร

ที่เหลือเป็นกรรมการจาก 4 ส่วน คือ 1. จากส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 คน คือ ผู้แทนสำนักนายกฯ, ผอ.พอช.,ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน และผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2.จากองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านพัฒนาชุมชน 3 คน ซึ่งครม.แต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาจากผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านพัฒนาชุมชน และ 3. ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ที่ครม.แต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาผู้มีประสบการณ์พัฒนาสัมมาชีพชุมชนบริหารองค์กร ด้านการเงิน หรือด้านอื่นอันเป็นประโยชน์แก่กิจการสถาบัน โดยอย่างน้อย 1 คน ต้องมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ และ 4.ผู้อำนวยการสถาบัน เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง

ทั้งนี้ กรรมการสถาบันมีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ ที่เหลือคือหมวดผู้ปฏิบัติงานของสถาบัน หมวดการบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผล หมวดการกำกับดูแล หมวดการยุบเลิก และบทเฉพาะกาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 25 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559