กรุงไทย เฉือนจีดีพีเหลือโต 3.3% จับตาสงครามการค้ากดดันการลงทุน

18 มิ.ย. 2562 | 09:59 น.

กรุงไทย จ่อหั่นเป้าจีดีพีโตเหลือ 3.3% ส่วนส่งออกดิ่งเหลือ 0.8% จาก 4% รับหลายสำนักฯ ประเมินภาพสงครามการค้าพลาด เหตุกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ฉุดการลงทุนเอกชนหดลงแตะ 3.8% จาก 4% พร้อมจับตาความไม่แน่นอนในประเทศ-มาตรการธปท.กดดันการเติบโต เผย ผลวิจัย “SMEs ทำ R&D อย่างไรไม่เดียวดายพบเอสเอ็มอีทำวิจัยและพัฒนาแค่ 0.2% จาก 3 ล้านราย หนุนผู้ประกอบการเร่งทำ R&D ใช่ช่องทางภาครัฐช่วยเสริมศักยภาพ   

 

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2562 ใหม่ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยจะปรับลดอัตราการเติบโตจีดีพีจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.8% มาอยู่ที่ 3.3% และการส่งออกอยู่ที่ 0.8% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 4% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดเหลือ 3.8% จากเดิมอยู่ที่ 4%

 ทั้งนี้ การปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะเห็นว่าปีนี้สำนักวิจัยหลายแห่งมองว่าอัตราการเติบโตจีดีพีจะขยายตัวอยู่ที่รับ 4% ซึ่งเป็นการมองภาพผิดไปจากคาด เนื่องจากไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Trade War) เพราะมองว่าไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ลงมากนัก   แต่ผลจาก Trade War กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ทำให้การลงทุนแผ่วลง  โดยจะเห็นว่าบางรายมีการซื้อเครื่องมือที่จะลงทุนใหม่ แต่หลังจากมีประเด็นการปรับขึ้นภาษี ทำให้ผู้ประกอบการนักลงทุนชะลอการตัดสินใจที่จะลงทุน เพราะกลัวผลกระทบ  โดยเฉพาะหมวดสินค้าเทคโนโลยีและไอทีชะลอตัว ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าประเภทดังกล่าว จึงได้รับผลกระทบไปด้วย

 นอกจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามากดดัน จึงเกิดความไม่แน่นอน เช่น  มาตรการกำกับและดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กระทบยอดขายคอนโดมิเนียมให้ปรับลดลงถึง 40% ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลูกค้าเลื่อนการโอนไปในเดือนมีนาคมเพื่อหนีมาตรการ LTV ทำให้ยอดในเดือนเมษายนมีอัตราติดลบค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าธปท.มีสัญญาณที่จะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา เพื่อดูแลและควบคุมในส่วนของหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น จึงเป็นปัจจัยความไม่แน่นอนในปีนี้ด้วย

 “ปีนี้จะเห็นว่าเป็นปีที่ทุกสำนักวิจัยและหลายคนมองภาพผิด เป็นผลมาจากประด็นสงครามการค้าที่กระทบความเชื่อมั่นการลงทุน และเรายังต้องจับตาเพิ่มเติมว่าจะมีเอฟเฟ็กซ์อะไรรอบๆ อีกไหม รวมถึงปัจจัยความไม่แน่นอนในประเทศที่จะเป็นตัวกดดันให้การเติบโตจีดีพีปีนี้ปรับลดลงตามลำดับ และถือว่าเป็นปีที่ธุรกิจจะต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น

    

 นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการ สายงาน Global Business Development and Strategy บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ทำบทวิจัย “SMEs ทำ R&D อย่างไรไม่เดียวดาย” พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศกว่า 3 ล้านราย มีเพียง 0.2% หรือประมาณ 5,000-6,000 รายเท่านั้นที่ทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนเอสเอ็มอีที่ทำ R&D ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 0.7% และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 0.9% ขณะที่สัดส่วนการลงทุนใน R&D ต่อจีดีพี พบว่า ไทยอยู่ที่ 1% แม้ว่าจะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรที่อยู่ 1.7% และสหรัฐอเมริกา 2.8% อย่างไรก็ดี สัดส่วนของไทยที่อยู่ 1% หากเทียบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไทยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากอดีตที่อยู่ 0.2% และในจำนวนดังกล่าวประมาณ 80% เป็นการลงทุนจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่

 ทั้งนี้ ปัญหาที่เอสเอ็มอีไม่ทำ R&D นั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ขาดบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญประมาณ 44% การขาดข้อมูลและเทคโนโลยีการวิจัยใหม่ๆ ประมาณ 30% และประมาณ 28% มาจากต้นทุนการทำ R&D และการทำนวัตกรรมสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม หากเอสเอ็มอีมีการทำ R&D พบว่า ผู้ประกอบการจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างจากที่อื่น และจะช่วยเพิ่มยอดขาย ซึ่งจะสร้างผลตอบแทน (Yield) ให้กับเอสเอ็มอีเฉลี่ยราว 6-23% นอกจากนี้จะยังเพิ่มโอกาสการอยู่รอดให้กับธุรกิจถึง 7-15% ซึ่งขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและอายุของธุรกิจ

 “เอสเอ็มอีที่ไม่มีการทำ R&D จะอยู่ค่อนข้างยากลำบาก และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจจะน้อยกว่าเอสเอ็มอีที่ทำ R&D เพราะจะต้องแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ อย่างไรก็ดี หากเอสเอ็มอีรายไหนที่ต้องการทำ R&D แต่ติดปัญหา จะเห็นว่าภาครัฐและศูนยวิจัยมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ความช่วยเหลือ ทั้งการให้คำปรึกษาเบื้องต้น บริการเครื่องมือและสถานที่ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้น คาดว่าแนวโน้มในระยะข้างหน้าสัดส่วนการทำ R&D น่าจะทยอยเพิ่มขึ้นได้”

กรุงไทย เฉือนจีดีพีเหลือโต 3.3% จับตาสงครามการค้ากดดันการลงทุน