ยกระดับ‘ข้อมูลนํ้า’ จีน-ลาว-ไทย ดีเดย์ก.ค.รับมือน้ำหลากลำโขง

19 มิ.ย. 2562 | 23:40 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รายงาน : โต๊ะข่าวภูมิภาค

 

แนวรบเรื่องนํ้าในฤดูนํ้าหลากไม่เพียง แม่นํ้าในประเทศ แต่แม่นํ้านานาชาติสายสำคัญสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไหลผ่านพื้นที่ของ 6 ประเทศ ตั้งแต่ จีน เมียนมา สปป.ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนไหลลงทะเลที่เวียดนามด้วยความยาว 4,880 กิโลเมตร คือแม่นํ้าโขง ก็เป็นแนวรบสำคัญไม่แพ้กัน

ยกระดับ‘ข้อมูลนํ้า’ จีน-ลาว-ไทย ดีเดย์ก.ค.รับมือน้ำหลากลำโขง

ในยุคที่แม่นํ้าโขงยังเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างในลำนํ้า เมื่อถึงฤดูฝนกระแสนํ้าโขงตามธรรมชาติมักท่วมและกัดเซาะพื้นที่ริมฝั่งเสียหาย ต่อเมื่อมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลำนํ้าโขง ที่เสร็จแล้วโดยเฉพาะในจีนเป็นเขื่อนเก็บกักนํ้า 6 แห่ง จากแผน 7 แห่ง และใน สปป.ลาว 1 แห่ง จากแผน 9 แห่ง  แม่นํ้าโขงยุคใหม่เริ่มซับซ้อนขึ้นและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง เช่นดียวกับในฤดูแล้ง

ยกระดับ‘ข้อมูลนํ้า’ จีน-ลาว-ไทย ดีเดย์ก.ค.รับมือน้ำหลากลำโขง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากร นํ้าแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของแม่นํ้าโขงทำให้ชาติสมาชิกต้องพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อจะได้วางแผนบริหารจัดการนํ้า เพื่อรับมือนํ้าหลากและนํ้าแล้งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ข้อมูลนํ้าจึงมีความสำคัญมาก ทั้งจากนํ้าฝน นํ้าท่าที่ไหลลงแม่นํ้าโขง และผ่านมายังชายขอบประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ในการประชุมทั้งเวทีกรอบความร่วมมือแม่นํ้าโขง-ล้านช้าง มีความคืบหน้าที่น่าสนใจคือ จีนยินดีสนับสนุนข้อมูลระดับนํ้าและปริมาณฝนในช่วงฤดูนํ้าหลาก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม ของทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562 นี้เป็นต้นไป โดยอาศัยข้อมูลจากสถานีอุทกวิทยา 2 แห่งคือ สถานีจิ่งหง ซึ่งเป็นสถานีวัดปริมาณนํ้าที่ระบายจากเขื่อนตัวที่ 6 ของจีนในแม่นํ้าโขง และสถานีหม่านอัน สถานีวัดนํ้าในลำนํ้าสาขาแม่นํ้าโขงของจีน

“สทนช.เพิ่งลงนามในบันทึกความเข้าใจกับจีนว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยา กรณีฤดูนํ้าหลาก เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน” ดร.สมเกียรติกล่าว

ยกระดับ‘ข้อมูลนํ้า’ จีน-ลาว-ไทย ดีเดย์ก.ค.รับมือน้ำหลากลำโขง

นอกจากนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.สมเกียรติ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่นํ้าโขงแห่งชาติไทย เดินทางไปหลวงพระบาง เพื่อหารือกับนายแก้วมณี หลวงฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารองค์กรและความร่วมมือ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่นํ้าโขงแห่งชาติลาว ในประเด็นการร่วมมือบริหารจัดการนํ้าใน แม่นํ้าโขง ผลการหารือทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการนํ้าแม่นํ้าโขง สถานีวัดนํ้าฝน รวมถึงปริมาณนํ้าที่ระบายออกจากเขื่อนของสปป.ลาว ที่ไหลลงสู่แม่นํ้าโขง ทั้งโครงการที่ก่อสร้างแล้วในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้แก่ประเทศไทยโดยตรง นอกเหนือจากการประสานงานผ่านคณะกรรมการแม่นํ้าโขง (MRC)

“เพื่อให้การใช้นํ้าจากแม่นํ้าระหว่างประเทศเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยผู้แทนสปป.ลาวจะนำไปหารือในระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยา ระหว่าง 2 ชาติในระยะสั้นและระยะกลางให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป” ดร.สมเกียรติกล่าว

ยกระดับ‘ข้อมูลนํ้า’ จีน-ลาว-ไทย ดีเดย์ก.ค.รับมือน้ำหลากลำโขง

สปป.ลาวยังติดตั้งสถานีวัดนํ้าเชียงกก ในลำนํ้าโขงระหว่างเมียนมาและสปป.ลาว เหนืออ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประมาณ 200 กิโลเมตร

“ผลการหารือครั้งนี้ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงการบริหารจัดการแม่นํ้าโขงตลอดสายในฤดูฝนนี้ ทั้งข้อมูลปริมาณนํ้าฝน นํ้าที่ระบายจากเขื่อนไซยะบุรี ที่สะท้อนความเป็นจริงและเป็นข้อมูลปัจจุบัน (Real Time) ใช้วิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์นํ้าโขงฝั่งไทยได้ โดยเฉพาะ 8 จังหวัดเสี่ยงที่ติดแม่นํ้าโขง”

ในแต่ละปี ปริมาณนํ้าโขงจะอยู่ในระดับสูง 2 ช่วงคือเดือนกรกฎาคมกับกันยายน หากได้รับข้อมูลสถานการณ์นํ้าจากสปป.ลาวล่วงหน้า “เราก็สามารถคาดการณ์ และป้องกันบรรเทาผลกระทบจากนํ้าโขงล้นตลิ่งฝั่งไทยได้” ดร.สมเกียรติกล่าวอย่างมั่นใจ 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,480 วันที่ 20 - 22 มิถุนายน 2562

ยกระดับ‘ข้อมูลนํ้า’ จีน-ลาว-ไทย ดีเดย์ก.ค.รับมือน้ำหลากลำโขง