ก.ท่องเที่ยวผนึก สวทช. ประยุกต์เทคโนโลยียกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน

17 มิ.ย. 2562 | 09:26 น.

 

ก.ท่องเที่ยวผนึกสวทช.
ยกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน

ก.ท่องเที่ยวผนึก สวทช. ประยุกต์เทคโนโลยียกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน

           กระทรวงท่องเที่ยวผนึกสวทช.ยกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน โดยMOU  ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ระหว่างกระทรวงฯ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนการดำเนินการใน 3 เรื่อง ไล่ตั้งแต่ การจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวที่รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม  การจัดทำ National Guideline ด้านขีดความสามารถในการรองรับ ของแหล่งท่องเที่ยว 3 ประเภทสำคัญ ภูเขา ทะเล ประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม  และการจัดทำระบบรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะที่รับรองโดยสภาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนโลก

       นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  บันทึกข้อตกลงฯดังกล่าว เป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดย สวทช. จะสนับสนุนการดำเนินการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวที่รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Tourism Satellite Account-System of Environmental Economic Accounting: TSA-SEEA) ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญ มีการจัดทำกรอบการวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว 3 แบบ ได้แก่ ภูเขา ทะเล และวัฒนธรรม รวมทั้งนำร่องระบบรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินการร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานภายใต้ปีงบประมาณ 2561 – 2564 โดยจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการพัฒนาต่อยอดและการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้  สวทช. ก็จะสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มค่า Green GDP ในภาคการท่องเที่ยวของประเทศ และสนับสนุนฐานข้อมูลและส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อบริการแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในระยะต่อไป

 

             ทั้งนี้ สวทช. มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะสามารถสนับสนุนและต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เป็นอย่างดี และมีฐานข้อมูลที่สำคัญจากการศึกษาวิจัยและการพัฒนาในด้านชีวภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมโยงบนเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทั้งในส่วนของ Tourism Intelligence Center (TIC) และ Thailand Tourism Directory ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เป็นอย่างดี

 

 

ก.ท่องเที่ยวผนึก สวทช. ประยุกต์เทคโนโลยียกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน

            ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของประเทศทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ โดยในช่วงที่ผ่านมา สวทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษา และเอกชน ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วย วทน. ในหลายๆ มิติ เช่น การทำบัญชีต้นทุนเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกย่อๆ ว่า Green GDP ของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับภาคการท่องเที่ยวและบริการ ได้เน้นเรื่อง เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งเป็นการศึกษาครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

        “สวทช. ได้ศึกษาเรื่อง Green GDP ของการท่องเที่ยวในจังหวัดที่สำคัญ โดยทำโครงการนำร่องที่ จ.ภูเก็ต  ซึ่งผลการศึกษาจะทำให้ทราบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ (หรือ GDP)  ของภาคการท่องเที่ยว กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความสมดุลหรือเหมาะสมกับพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นหรือไม่ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในประเด็นเชิงพื้นที่ สวทช. ได้ร่วมดำเนินการโครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ (หรือ smart city) ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่หาดเจ้าไหม จ.ตรัง อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geopark) ที่จ.สตูล การวางเซ็นเซอร์ติดตามสภาวะแวดล้อม เพื่อศึกษาปรากฎการณ์ต่างๆ เช่น ปะการังฟอกขาวใต้ทะเล ตัวพะยูน เหยี่ยวหายาก เป็นต้น”

ก.ท่องเที่ยวผนึก สวทช. ประยุกต์เทคโนโลยียกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน

      สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ สวทช. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในระยะเริ่มต้นจะมีความร่วมมือศึกษาวิจัย ในการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย อย่างน้อยใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

          1. การดำเนินการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวที่รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Tourism Satellite Account-System of Environmental Economic Accounting: TSA-SEEA หรือ Green GDP) ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยว (SDG 12.b) ภายใต้การรับรองโดยองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN-World Tourism Organization หรือ UNWTO)

         2. การจัดทำ National Guideline ด้านขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว 3 ประเภทสำคัญ ได้แก่ ภูเขา ทะเล และ ประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม 

         3. การจัดทำระบบรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะที่รับรองโดยสภาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) เพื่อร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุน การขับเคลื่อน การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของประเทศ ด้วย วทน. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนทั่วไป สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ก.ท่องเที่ยวผนึก สวทช. ประยุกต์เทคโนโลยียกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน