ซาอุฯเรียกร้องมาตรการคุ้มกันภัยในอ่าวเปอร์เซีย

16 มิ.ย. 2562 | 12:24 น.

ซาอุดิอาระเบียเรียกร้องมาตรการคุ้มกันภัยในการลำเลียงเชื้อเพลิงในอ่าวเปอร์เซียหลังเหตุการณ์ล่าสุดเรือบรรทุกน้ำมันสองลำถูกโจมตีในบริเวณน่านน้ำสากลของอ่าวโอมาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา และสถานการณ์การเผชิญหน้าภายในภูมิภาคก็มีความตึงเครียดมากขึ้น โดยฝ่ายซาอุฯ เห็นพ้องกับสหรัฐอเมริกาว่า การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันครั้งนี้เป็นฝีมือของอิหร่าน

คาลิด อัล-ฟาลีห์ รัฐมนตรีพลังงานซาอุดิอาระเบีย

นายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย กล่าวในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานของประเทศกลุ่ม G-20 ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ซาอุฯยึดมั่นในภารกิจการรักษาสเถียรภาพของตลาดน้ำมันโลก ขณะที่นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเห็นด้วยว่า เมื่อพิจารณาในแง่ความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว จำเป็นที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นับตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมาหลังจากเรือบรรทุกน้ำมันทั้งสองลำถูกโจมตี ราคาน้ำมันดิบโลกขยับขึ้น 3.4% ขณะที่ค่าธรรมเนียมประกันภัยเรือสินค้าที่ใช้เส้นทางผ่านตะวันออกกลางขยับสูงขึ้นอย่างน้อย 10%

 

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมมีเรือพาณิชย์ถูกโจมตี 4 ลำ ทำให้สหรัฐฯส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าเสริมกำลังในเขตอ่าวเปอร์เซียมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ สหรัฐฯและซาอุฯ กล่าวหาอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีทั้งหมดนี้ แต่อิหร่านก็ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยังตอกกลับว่าทั้งหมดนี้เป็นแผนสมคบคิดระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ อิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย เพื่อใส่ความและกดดันอิหร่าน

ซาอุฯเรียกร้องมาตรการคุ้มกันภัยในอ่าวเปอร์เซีย

จุดเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำมันสองลำถูกโจมตีครั้งล่าสุดนี้ อยู่นอกชายฝั่งประเทศอิหร่านและใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย และซาอุดิอาระเบีย ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ในการขนส่งลำเลียงน้ำมัน กล่าวกันว่า 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำมันดิบที่เข้าสู่ตลาดโลกในแต่ละวันต้องผ่านช่องแคบแห่งนี้

 

รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ยังเรียกร้องผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (15 มิถุนายน 2562) ว่า เมื่อมีภัยคุกคามอุปทานเชื้อเพลิงโลก สเถียรภาพของตลาด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเช่นนี้ ก็จำเป็นจะต้องมีมาตรการตอบกลับที่ฉับไวและเฉียบขาด ขณะเดียวกันสื่อท้องถิ่นของซาอุฯ รายงานบทสัมภาษณ์มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซาลแมน ที่กล่าวโทษอิหร่าน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ และเรียกร้องให้ประชาคมโลกมีจุดยืนที่เฉียบขาดร่วมกันในการต่อต้านการโจมตีในลักษณะนี้ “ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียไม่ต้องการสงครามในภูมิภาคนี้ แต่เราก็ไม่ลังเลที่จะตอกกลับหากมีภัยคุกคามความเป็นอยู่ของประชาชนชาวซาอุฯ หรือคุกคามเอกราชและผลประโยชน์ของชาติเรา” มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซาลแมน กล่าว

คลิปวิดีโอที่สหรัฐฯนำมาเป็นหลักฐาน

ขณะเดียวกันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ออกมากล่าวย้ำว่า อิหร่านคือผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ และที่ใครๆก็รู้ว่าอิหร่านทำ เป็นเพราะทุกคนเห็นภาพคลิปวิดีโอที่สหรัฐฯนำออกมาแสดงเป็นหลักฐานว่าอิหร่านมีส่วนรู้เห็นกับการโจมตี โดยในคลิปเป็นภาพทหารของอิหร่านกำลังขนย้ายทุ่นระเบิดที่ยังไม่ระเบิดออกจากลำตัวของเรือบรรทุกน้ำมันที่ถูกโจมตี

 

การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงสันติภาพปี 2015 ซึ่งอิหร่านและมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาตินำโดยสหรัฐฯ ตกลงกันไว้ เป้าหมายเพื่อให้อิหร่านยุติการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ภายใต้การตรวจสอบของยูเอ็น แต่ต่อมาเมื่อสหรัฐฯอ้างว่าอิหร่านไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง สหรัฐฯจึงถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2018 และหันมากดดันอิหร่านด้วยมาตรการคว่ำบาตรเป้าหมายเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงทางเศรษฐกิจของอิหร่านเพื่อไม่ให้นำรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบไปพัฒนาโครงการนิวเคลียร์  อิหร่านตอบโต้ท่าทีของสหรัฐฯ ด้วยการขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซถ้าหากการส่งออกน้ำมันของอิหร่านถูกขัดขวาง  แต่ก็ยังไม่ได้ทำเช่นนั้น