‘เบียร์0%’โดนภาษีแน่

18 มิ.ย. 2562 | 08:30 น.

สรรพสามิตเอาแน่ เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ เก็บภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ยอมรับหาริือไป 2 รอบ ยังมีความเห็นต่าง แต่ยืนหลักการ อัตราภาษีสูงกว่าเครื่องดื่ม แต่ตํ่ากว่าเบียร์ ส่วนภาษีกัญชา รอนโยบายจากรัฐบาล 

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมเตรียมจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือ เบียร์แอลกอฮอล์ 0% โดยได้หารือกับผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้ว 2 รอบแต่ยังมีความเห็นที่แตกต่าง โดยผู้บริโภคเห็นด้วยที่จะให้จัดเก็บ ขณะที่ผู้ประกอบการเองไม่ต้องการให้จัดเก็บ จึงยังไม่ได้กำหนดอัตราภาษีที่แน่นอน แต่หลักการคือจะต้องสูงกว่า อัตราภาษีเครื่องดื่ม แต่จะตํ่ากว่าภาษีเบียร์ทั่วไป

“เรายืนยันในหลักการเดิมที่จะให้จัดเก็บภาษี เพราะแม้ว่าเบียร์แอลกอฮอล์ 0% จะเป็นประโยชน์กับสุขภาพ แต่ในอีกมุมก็มีโทษ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะเบียร์ประเภทนี้อาจเป็นช่องทางในการต่อยอดการบริโภคไปถึงเบียร์ปกติ และแอลกอฮอล์ ประเภทอื่นได้อีก”

‘เบียร์0%’โดนภาษีแน่

ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์ เก็บตามสัดส่วนแอลกอฮอล์ แต่เบียร์ 0% นั้น อาจต้องปรับหลักการเสียภาษีใหม่ที่คำนึงถึงผลกระทบสุขภาพของผู้ดื่ม ซึ่งทั้งหมดไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายใหม่ เพราะกฎหมายในปัจจุบันเปิดช่องให้ดำเนินการได้ 

สำหรับตลาดเบียร์ในไทย ปี 2561 มีมูลค่ารวมกว่า 1.47 แสนล้านบาท เติบโตติดลบ 4% โดยแบ่งเป็น  เบียร์เมนสตรีม 1.39 แสนล้านบาท เบียร์พรีเมียม 6,400 ล้านบาท  เบียร์ราคาประหยัดและเบียร์นำเข้า 2,000 ล้านบาท  ขณะที่เบียร์แอลกอฮอล์ตํ่า (Lower Alcohol) ปัจจุบันมีแบรนด์ ไฮเนเก้น 0.0, บาวาเรีย 0.0% มอลต์ ดริ้งค์  โดยเบียร์แอลกอฮอล์ตํ่า เป็นเทรนด์ของนักดื่มทั่วโลก เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมรักษาภาพลักษณ์และดูแลสุขภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ เบียร์ 0% ปัจจุบันขายในตลาดราว 39-99 บาทต่อกระป๋อง เสียภาษีในกลุ่มสินค้าประเภทนํ้าอัดลม อัตราประมาณ 14% หรือเสียภาษีประมาณ 5-12 บาทต่อกระป๋อง ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงมีแนวคิดเปิดพิกัดภาษีสินค้าดังกล่าว เพื่อให้อัตราภาษีสูงกว่ากลุ่มเครื่องดื่มประเภทนํ้าอัดลม แต่จะตํ่ากว่าเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ที่เสียภาษีราว 22% ของราคาขายบวกปริมาณแอลกอฮอล์

นายพชรกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกัญชาว่า ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลก่อนว่า จะ ดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ ส่วนมาตรการภาษีอื่นๆ ที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเสริมกับหน่วยงานอื่นๆ นั้น กำลังศึกษาดูว่าจะสามารถใช้อะไรได้บ้าง เพราะหากจะกระตุ้นในส่วนของ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยก็แทบจะไม่ได้จัดเก็บแล้ว หรือจะลดภาษีอื่นๆ ก็คงทำไม่ได้ เพราะภาษีที่สรรพสามิตจัดเก็บจะเป็นเรื่องภาษีบาป สินค้าที่ทำลายสุขภาพ ใช้เพื่อลดการบริโภคลง คงไม่เหมาะที่จะไปลดภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภคได้ 

ส่วนความคืบหน้าหลังเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษียาเส้นจาก 0.005% ต่อกรัมเป็น 0.1% ต่อกรัม ซึ่งมีตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยอดภาษีที่นำมาชำระเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของการบริโภคอยู่ระหว่างการติดตามตัวเลขว่า ลดลงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งยังไม่ชัดเจน เพราะแค่เพียงเดือนเดียว แต่ที่ได้ดำเนินการแล้วคือ ได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ปลูกในยาสดสำหรับครัวเรือน กรณีที่ซื้อแสตมป์ไปแล้วก่อนที่กฎหมายกฎหมายจะมีผลบังคับใช้และไม่มาเสียภาษีภายใน 30 วัน ไม่เกิน 1 แสนบาทจะได้รับยกเว้นไม่มีเบี้ยปรับและลดเงินเพิ่มลงตํ่าสุดเหลือเพียงแสนละ 300 บาท

ทั้งนี้การปรับเพิ่มภาษียาเส้น ส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นทันที โดยยาเส้นขนาดบรรจุ 20-30 กรัมต่อซอง เพิ่มขึ้นจาก 10 บาทเป็น 13 บาท ขณะที่ยาเส้นซอง เล็กขนาดบรรจุไม่ถึง 10 กรัม ราคา 5 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท เป็น 7 บาท เนื่องจากอัตราภาษีที่ขนาด 10 กรัม เดิมเสีย 5 สตางค์เพิ่มเป็น 1 บาท ทั้งนี้เนื่องจาก หลังจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ี่ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 พบว่า ปริมาณการบริโภคยาเส้นเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านกิโลกรัมในปี 2559 เป็น 26 ล้านกิโลกรัมในปี 2560

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,479 วันที่ 16 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

‘เบียร์0%’โดนภาษีแน่