ยกเลิก400สัญญา เคลียร์ที่‘ไฮสปีด’

16 มิ.ย. 2562 | 05:40 น.

รฟท. เคลียร์ 5 ปมร้อนรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้ซีพีไล่รื้อ 3,000 หลังคาเรือนบอกเลิกกว่า 400 สัญญา “วรวุฒิ” เรียกซีพี ทำข้อตกลง ยันไม่รีบร้อนเซ็นสัญญา หวั่นซํ้ารอยค่าโง่โฮปเวลล์

แม้วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างสัญญาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร

ร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดหรือซีพีและพันธมิตรผู้ชนะการประมูล โดยมีเป้าหมายไม่เกินวันที่ 15 มิถุนายน 2562 อย่างไรก็ตาม ยังมีปมร้อนหลายรายการโดยเฉพาะเส้นทางทับซ้อน, การบุกรุกพื้นที่ ส่งผลให้รฟท.ต้องแก้ปัญหาให้สะเด็ดนํ้า ก่อนส่งมอบพื้นที่ จึงเลื่อนการเซ็นสัญญาออกไปเป็นต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซํ้ารอยโครงการโฮปเวลล์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเรื่องไม่เรียบร้อย รฟท. ยืนยันว่าจะไม่รีบร้อนลงนาม

 

เลิกสัญญาเช่าที่..ไล่รื้อบุกรุก

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่า การกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการลงนามในสัญญาล่าช้าว่า เนื่องจาก รฟท.ต้องการดำเนินการให้เกิดความรอบคอบ เพราะปัญหาใหญ่คือการส่งมอบพื้นที่ ยังติดปัญหาหลายเรื่อง โดยยอมรับว่าการบุกรุกถือเป็นปัญหาที่เรื้อรัง แก้ไขยาก โดยเฉพาะบนเขตทางรถไฟตั้งแต่ ดอนเมือง ถึง พญาไท ขณะนี้ มีประชาชนบุกรุกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย เป็นหลัก 1,000-2,000 ราย หากเทียบระยะทาง รถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีผู้บุกรุกประมาณกว่า 3,000 ราย ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกันกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ในเขตเมือง

“ที่ผ่านมา รฟท. มักถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตักเตือน โดยเฉพาะสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่าการไล่รื้อเป็นปัญหาใหญ่ของการส่งมอบพื้นที่ และอาจส่งผลตามมาเหมือนค่าโง่โฮปเวลล์ ทำ ให้เราไม่รีบร้อน ที่จะเซ็นสัญญา”

ขณะเดียวกัน ยังต้องเจรจา บอกเลิกสัญญาเช่าแนวเขตทางกว่า 400 สัญญา ตั้งแต่ดอนเมือง-อู่ตะเภา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ปักเสาพาดสาย ทางข้ามทางเชื่อม ธุรกิจป้ายโฆษณา รองลงมาเป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เวลาแต่มองว่าเจรจาง่ายกว่ากลุ่มบุกรุก อีกปัญหา นายวรวุฒิ อธิบายว่า ต้องเคลียร์จุดทับซ้อน เส้นทาง ระหว่างรถไฟไทย-จีน รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน บริเวณบางซื่อ ต้องมีการทุบตอม่อ ยกเลิก400สัญญา  เคลียร์ที่‘ไฮสปีด’

ส่วนการเวนคืน ขณะนี้ รอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินคาดว่าจะออกเร็วๆ นี้ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อยู่บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อทำโรงซ่อมและ สถานีใหม่กว่า 300 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมามีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน แต่ทั้งนี้ การเวนคืนต้องใช้เวลามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งช่วงนี้จะใช้เวลา 2 ปีในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับการก่อสร้าง มองว่า จะต้องเริ่มจาก บริเวณอู่ตะเภา ไล่ขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ หรือ ไล่ จากปัญหาน้อยไปหาปัญหาที่มาก

 

ทำแผนมัดมือซีพี

สำหรับทางออก นายวรวุฒิ ระบุว่า ไม่ว่าพื้นที่จะติดปัญหาอะไรก็ตาม รฟท. ได้เปลี่ยนวิธีทำงานใหม่ เพื่อไม่ให้ซํ้ารอยกับโฮปเวลล์คือ ทำแผนบันทึกข้อตกลง ก่อนส่งมอบพื้นที่ ด้วยการนำข้อมูลทั้งหมดมาวางบนโต๊ะเรียกซีพีเข้ามารับทราบปัญหา ว่าเส้นทางที่จะมอบพื้นที่มีอะไรบ้าง เส้นทางไหนถึงกิโลเมตรไหนเป็นอย่างไร พร้อมทั้งใส่รายละเอียดทั้งหมดลงไปในแผนที่ว่าปัจจุบันมีผู้บุกรุกจำนวนเท่าใด ติดปัญหาสัญญาเช่าพื้นที่มากแค่ไหน เวนคืนกี่แปลง ฯลฯ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาเข้าพื้นที่ก่อสร้างของซีพี หากพื้นที่ไหนสะดวกก็สามารถเข้าพื้นที่ได้ก่อน หากพื้นที่ไหน ติดปัญหา ก็ทะยอยส่งมอบ

“กำหนดแนบท้ายสัญญาว่า รฟท. ขอเวลา 2 ปีสำหรับ การเวนคืน และบอกเลิกสัญญา ขณะบุกรุกใช้ขอเวลา 3 ปี และห้ามซีพีเข้าพื้นที่ก่อนระยะเวลาที่กำหนด หากซีพียอมรับได้ ก็เซ็นสัญญาร่วมกันเบื้องต้นกำหนดไว้ต้นเดือนกรกฎาคมนี้”

 

เร่งทำหลักฐานบุกรุก

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า รฟท.ระบุว่าได้ทำบันทึก แนบท้าย สัญญากับซีพี พร้อมทั้งให้ซีพี เข้ามารับทราบรายละเอียดของปัญหา ก่อนเซ็นสัญญา จะต้องดูคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล) จะผ่านรายงานการกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ คาดว่า อย่างเร็ว สิ้นเดือนมิถุนายนนี้ อย่างช้า ต้นเดือนกรกฎาคมนี้โดยมีเงื่อนไขว่า 1. ไล่รื้อผู้บุกรุกโดยรฟท. ใช้เวลา 3 ปีโดยพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา 2. บอกเลิกสัญญา ขอเวลา 2 ปี รฟท.เป็น ผู้ดำเนินงาน และ 3. การเวนคืน ใช้ เวลา 2 ปี 4. การรื้อย้านสาธารณูปโภค ใช้เวลา 2 ปี 5. ทุบทิ้ง ตอม่อ บริเวณ บางซื่อ-พญาไท 90 ต้น ซีพี เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ต้นละ 2-3 แสนบาท ส่วนดอนเมือง ถูกทุบโดยรถไฟสายสีแดง ขณะผู้บุกรุก บริเวณดอนเมือง ยืนยันว่าไม่มีเนื่องจาก ถูกไล่รื้อในช่วงรถสายสีแดงแล้ว

ทั้งนี้ พื้นที่ก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งหมด 11,000 ไร่ พบผู้บุกรุก 1,100 ไร่ คิดเป็น 10% ล่าสุด มีรายงานเบื้องต้น 630 หลังคาเรือน ขณะส่วนพื้นที่อื่น ยังไม่ได้รับการรายงาน อาจจะมีเพิ่มเข้ามามากกว่านี้ นอกจากนี้พื้นที่สัญญาเช่า 450 ไร่ ที่สำคัญ รฟท.จะพาซีพีลงพื้นที่ ถ่ายภาพ ตลอดแนวสายทาง ถึงลักษณะจำนวนการบุกรุก เพื่อป้องกันการบุกรุกภายหลังและเกิดการฟ้องร้อง
เหมือนกรณีโฮปเวลล์ที่ต้องขยายเวลาให้กับผู้รับเหมา 900 วัน

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,479 วันที่ 16 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ยกเลิก400สัญญา  เคลียร์ที่‘ไฮสปีด’