สอท.ชงรื้อพีดีพี กังขากบง.เอื้อIPP

14 มิ.ย. 2562 | 05:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 ส.อ.ท.เล็งหารือรมว.พลังงานคนใหม่ รื้อแผนพีดีพี มุ่งใช้แต่ก๊าซไม่กระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง จี้ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม คนวงการกังขามติกบง.ให้สิทธิราชกรุ๊ปสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพี 1.4 พันเมกะวัตต์ ไม่เปิดประมูล เร่งเจรจาค่าไฟฟ้าก่อนมติครม.อนุมัติ

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพีฉบับใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา โดยการเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำลังจะเป็นเผือกร้อน ที่หลายฝ่ายรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ ในการบริหารพลังงานของประเทศหรือไม่ เนื่องจากมีการมองว่าพีดีพีฉบับนี้ ผิดเพี้ยนไปจากฉบับเดิมๆ ที่เคยทำกันมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการมุ่งให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่ หันไปพึ่งการใช้ก๊าซธรรมชาติเกือบจะทั้งหมด ไม่กระจายความเสี่ยงไปให้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ

อีกทั้งการพัฒนาพลังงานทดแทน ที่ไปให้ความสำคัญกับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านหรือโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่มีเป้าหมาย 1 หมื่นเมกะวัตต์นั้น เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ค่อนข้างยาก และให้ความ สำคัญกับพลังงานทดแทนประเภทอื่นน้อยมาก เห็นได้จากสมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย ยื่นฟ้องกระทรวงพลังงาน กพช.ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนพีดีพี เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา เนื่องจากส่งผลเสียหายต่อผู้ประกอบการ และไม่เป็นไปตาม เจตนารมณ์ของแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงานที่ต้องให้ความสำคัญต่อพลังงานหมุนเวียน

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มจะเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เพื่อขอให้ทบทวนแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเห็นว่าผิดเพี้ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ไม่มีการกระจายความเสี่ยงด้านการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าใหม่มุ่งแต่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเห็นว่าในอนาคตก๊าซในอ่าวไทยจะมีปริมาณลดน้อยลง จะส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การส่งเสริมพลังงานทดแทน กำลังผลิตใหม่ที่บรรจุอยู่ในแผน 20,766 เมกะวัตต์โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตามเป้าหมายที่ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2580 นั้น เห็นว่ามีความเหมาะสม แต่ต้องนำมาจัดสรรสัดส่วนกันใหม่ ไม่ใช่ว่ารับซื้อไฟฟ้าบนหลังคาบ้านเพียงอย่างเดียว ควรจะขยายการติดตั้งไปยังบนอาคาร หรือหลังคาโรงงานด้วย รวมทั้งการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยนํ้า เนื่องจากขณะนี้การผลิต
ไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มมีต้นทุนตํ่า สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิสได้แล้ว ซึ่งในแผนพีดีพีไม่มีบรรจุไว้

อีกทั้ง การส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ควรจะมีการทบทวนให้ได้รับการอุดหนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐ เพราะเห็นว่า การนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้ผลิตไฟฟ้า จะเป็นการช่วยชาวเกษตรกรเพิ่มรายได้จากการขายเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง จึงควรสนับสนุนในส่วนนี้ ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในแผนพีดีพี ก็มีการบรรจุกำลังการผลิตไว้น้อยมากเพียง 1,485 เมกะวัตต์ เท่านั้น เป็นต้น

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า แผนพีดีพีฉบับใหม่นี้ มีข้อกังขา ที่กพช.มีมติเห็นชอบแผนพีดีพี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 ที่ให้อำนาจเต็มกับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ไปพิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพีดีพี โดยที่ไม่ต้องนำกลับมาเสนอให้กพช.เห็นชอบอีกครั้ง เห็นได้จากกรณีที่ กบง.มีมติเห็นชอบให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติได้ ทั้งที่ผิดเงื่อนไขการประมูลไอพีพีเมื่อปี 2550

อีกทั้ง ให้สิทธิบริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซ ในพื้นที่ภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ เป็นการสร้างทดแทน 1 โรง กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ และสร้างใหม่ 1 โรง กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ โดยไม่ใช้วิธีการประมูล ขัดกับหลักการการเปิดรับซื้อไฟฟ้า จากเอกชนรายใหญ่หรือไอพีพี ที่ปฏิบัติกันมา เพื่อให้เกิดการแข่งขันให้ได้ค่าไฟฟ้าตํ่าสุด

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าครม.อนุมัติแผนพีดีพีไม่ถึง 1 เดือน กบง.ก็ได้เห็นชอบทั้ง 2 โครงการดังกล่าวในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 และได้มีการยื่นร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปให้สำนักอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาแล้ว เพื่อนำไปสู่การลงนามกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อป้องกันรัฐบาลใหม่มารื้อสัญญาหรือทบทวนโครงการ หากมีผู้ร้องเรียนเกิดขึ้น

ดังนั้น จึงเข้าใจว่าทั้ง 2 โครงการนี้มีการเจรจาต่อรองค่าไฟฟ้ามาก่อนล่วงหน้า ก่อนที่กพช.และครม.จะเห็นชอบแผนพีดีพี เพราะปกติการเจรจาสัญญาค่าไฟฟ้ากับเอชน คงไม่สามารถได้ข้อยุติเพียงเดือนเดียว หลังจากที่ครม.เห็นชอบ ที่สำคัญกบง.ทราบได้อย่างไรว่ามีการเสนอค่าไฟฟ้าตํ่าสุดแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีการประมูลแข่งขันเกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าทั้ง 2 โครงการนี้ที่บรรจุอยู่ในแผนพีดีพีมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสหรือไม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,478 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สอท.ชงรื้อพีดีพี  กังขากบง.เอื้อIPP