‘เจริญ’เขย่าอสังหา ส่ง2ทัพใหญ่‘แอสเสทเวิรด์-FPT’บุกตลาด

15 มิ.ย. 2562 | 07:05 น.

เจ้าสัวเจริญปรับยุทธศาสตร์กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ จัด2 ทัพใหญ่ทะลวงตลาด “แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น”กับ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” นักวิเคราะห์ชี้ธุรกิจอสังหาฯ สร้างผลตอบแทนสูงสุด ต่อยอดแหล่งเงินทุน รวมถึงเพิ่มความหลากหลายให้ธุรกิจ

ที่ผ่านมาสังคมทั่วไปรู้จัก “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ในฐานะยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องดื่ม เนื่องจากเริ่มสร้างอาณาจักรจากธุรกิจสุราและเบียร์ จนปัจจุบันแตกแขนงไปหลากหลายธุรกิจ จนเกิดเป็นสายธุรกิจที่สำคัญ 5 สาย ได้แก่ สายธุรกิจเครื่องดื่ม สายธุรกิจอุตสาหกรรมการค้าปลีก สายธุรกิจประกันภัยและการเงิน สายธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร และ สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

วันนี้เจ้าสัวเจริญ วางยุทธศาสตร์ใหม่เดินหน้ารุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังปักหมุด
อภิโครงการมิกซ์ยูส“วันแบงค็อก”  บนถนนพระราม 4 ตัดถนนวิทยุ มูลค่าโครงการ 1.2 แสนล้านบาท ตามด้วยโครงการใหญ่อื่นๆ ตลอดแนวถนนพระราม 4 เริ่มจากเอฟวายไอ เซ็นเตอร์, สามย่านมิตรทาวน์, เดอะ ปาร์ค ที่กำลังก่อสร้าง และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับโฉมใหม่ นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าเชิงไลฟ์สไตล์ชื่อดังริมแม่นํ้าเจ้าพระยาที่ชื่อ เอเชีย ทีค อีกทั้งโรงแรมหรูกลางกรุงอย่าง ดิ แอทธินี โฮเต็ล แบงค็อก และอื่นๆอีกมากมาย ‘เจริญ’เขย่าอสังหา  ส่ง2ทัพใหญ่‘แอสเสทเวิรด์-FPT’บุกตลาด

ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ได้แบ่ง 2 กลุ่มหลักเป็นเรือธง ซึ่งมีบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ AWC ภายใต้การนำทัพของนางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โครงการอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจโรงแรมค้าปลีก กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน รวมถึงอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส แบบครบวงจร ตั้งอยู่ในทำเลทางธุรกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญ อีกกลุ่มคือบริษัท เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ฯ ภายใต้การนำทัพของนายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ดฯ (FPL) โดยการพัฒนาโครงการของกลุ่ม AWC จะเป็นทรัพย์ของนายเจริญ และครอบครัว แม้ล่าสุดเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะที่ทรัพย์ในกลุ่มเฟรเซอร์สจะเป็นทรัพย์อินเตอร์เนชั่นแนล ในเมืองไทยก็จะเป็นบริษัทอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ ใช้มืออาชีพเข้ามาบริหาร

 

ดันอสังหาฯต่อยอดแหล่งเงิน

นักวิเคราะห์มองสถาน การณ์ที่กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี รุกเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างชัดเจนมากขึ้นว่า ถือเป็นการ diversify การลงทุนจากธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นส่วนของธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มมาเป็นพร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นธุรกิจสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนได้สูงสุด และยังเป็นการต่อยอดแหล่งเงินทุนเพราะสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเข้ามาได้อีก

 

ชูเฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้

ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจอสังหาฯในกลุ่มเจริญ ประกอบด้วย บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (GOLD) ถือว่าบริหารได้ดี มีรายได้ปีละกว่าหมื่นล้านบาท ได้ใช้ที่ดินของตัวเองมาบริหารด้วยส่วนหนึ่ง และผู้บริหารมืออาชีพที่เคยผ่านงานมาก่อน ทำให้ประสบความสำเร็จค่อน
ข้างดี นอกจากนี้ยังมี บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศ ไทย) จำกัด(มหาชน) (FPT)

อย่างไรก็ตามธุรกิจบางส่วนก็ทับซ้อนกัน เช่นใน บมจ.ยูนิเวนเจอร์ หรือ UV ในพอร์ตก็มีเรื่องคอนโดฯ ภายใต้แบรนด์ “แกรนด์ ยูนิตี้” และมี GOLD ในอนาคตเร็วๆนี้จะขายหุ้นออกมา GOLD มีออฟฟิศบิวดิ้ง ขณะที่ FPT ทำเรื่องนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานให้เช่า เป็น recurring income

“มองยุทธศาสตร์กลุ่มนี้จะใช้ FPT เป็นตัวหลักในการจัดโครงสร้างธุรกิจอสังหาฯของกลุ่มฯ เห็นได้จากการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ บริษัท GOLD ซึ่งล่าสุด UV ที่ถืออยู่ใน GOLD 39.28 % ประกาศว่าจะขายหุ้นที่ถือส่วนอีกกว่า 39.92 % ถือโดย FPHT ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ FPT เองอยู่แล้ว”

ดังนั้นมองว่าในอนาคต FPT จะเป็นธุรกิจอสังหาฯที่มีครบทุกอย่าง เป็น “มินิเฟรเซอร์ส”
เพราะเฟรเซอร์สบริษัทแม่อยู่ที่ สิงคโปร์ ซึ่งกลุ่มนายเจริญ เป็นเจ้าของเช่นกัน ดังนั้นหากปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาฯโดยเข้าซื้อ GOLD ได้ทั้งหมด ก็จะไม่ต่างจาก บริษัทเฟรเซอร์สในสิงคโปร์ และจะเป็นหัวหอกในการขยายธุรกิจอสังหาฯในประเทศไทยและภูมิภาค

ส่วนบริษัท แอสเสท เวิรด์ฯ เป็นธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมและออฟฟิศ คือเป็นอสังหาฯที่มีรายได้จากค่าเช่าเป็นหลัก ซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสมํ่าเสมอ (recurring income)

 

เฟรเซอร์สฯเป้าผงาดไทย

นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย)
จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังจาก เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด บริษัทแม่แยกส่วนธุรกิจอสังหาฯ พร้อมรีแบรนด์เป็นเฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในสิงคโปร์เติบโตในกลุ่มอพาร์ตเมนต์ และช็อปปิ้งมอลล์ นอกจากนี้บริษัทแม่เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ยังซื้อธุรกิจอสังหาฯในออสเตรเลียชื่อ ออสต้า แลนด์ (เปลี่ยนชื่อเป็นเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ออสเตรเลีย) รวมถึงมาซื้อกิจการไทคอน อินดัสเทรียล ในประเทศไทย และเปลี่ยนชื่อเป็นเฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศ ไทย)

“เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ เข้าสู่ตลาดอสังหาฯในไทยโดยการถือหุ้นในโกลเด้นแลนด์ ก่อน เกือบ 40% ตอนหลังพอได้โครงการวัน แบงค็อก นายเจริญดึงเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ สิงคโปร์ และออสเตรเลียมาร่วมพัฒนาโครงการนี้ ฉะนั้น เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ สิงคโปร์ เป็นผู้จัดการโครงการ ถือหุ้น 20% แต่เงินลงทุนยังเป็นส่วนตัวของนายเจริญ”

“หากการเสนอซื้อหุ้น GOLD สำเร็จ จะเสริมให้การทำธุรกิจของกลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ครบวงจร ทั้งที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมรวมถึงโลจิสติกส์ โดยรายได้หลัก 60% มาจากกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัย ล่าสุดต้องรอการประชุมผู้ถือหุ้น บมจ.ยูนิเวนเจอร์ จะมีมติขายหุ้นที่ถือใน GOLD ทั้งหมดตามที่บอร์ดได้ไฟเขียวไปก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้ทราบผล 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,478 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562

‘เจริญ’เขย่าอสังหา  ส่ง2ทัพใหญ่‘แอสเสทเวิรด์-FPT’บุกตลาด