ปิดจุดอ่อนประกันรายได้ ปิดช่องว่างทุจริต

07 มิ.ย. 2562 | 11:51 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ โดย...กระบี่เดียวดาย

 

ปิดจุดอ่อนประกันรายได้

ปิดช่องว่างทุจริต

 

          หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเสียงโหวตคะแนนเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 สมัย 2 ด้วยมติรัฐสภาท่วมท้น 500 คะแนนเสียง โดยสมาชิกวุฒิสภาที่เลือกมาเองกับมือลงคะแนนให้ครบชนิดไม่แตกแถว เข้าสู่โหมดจัดตั้งรัฐบาลแบ่งเค้กเก้าอี้ครม.ซึ่งได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้าบ้างแล้ว

          รัฐบาลผสมเสียงปริ่มนํ้า 19 พรรค ที่พร้อมล่มทันที หากพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่ง โหวตสวนในกฎหมายสำคัญ อย่างกฎหมายทางการเงิน รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์จึงต้องทำงานภายใต้แรงกดดันในการขับเคลื่อนประเทศและคำนึงทั้งมือส.ส.ที่สนับสนุนในสภาและเสียงประชาชนที่เฝ้าจับตาดูนอกสภา โดยเฉพาะหากได้รับแรงหนุนจากเสียงประชาชนนอกสภาก็อาจจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ โดยต้องพึ่งเสียงประชาชนในการกดดัน ส.ส.ให้โหวตสนับสนุนวาระสำคัญ โดยไม่พลิกมติเพื่อต่อรองทางการเมืองจนมากเกินไป เหมือนต่อรองเก้าอี้ที่กลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ที่ล้วนแต่เป็นไปเพื่อตัวเองทั้งสิ้น 

          การเจรจาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนว่าจะยึด 2 กระทรวงหลักอย่างเกษตรฯและพาณิชย์ไม่ยอมปล่อย แน่นอนว่า 2 กระทรวงนี้จะช่วยผลักดันและเป็นหลักประกันชนิดเขียนแปะข้างฝาได้เลยว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรมาแน่ 

          สังคมเคยเจ็บปวดกับนโยบายจำนำข้าวที่ถลุงเงินงบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพและก่อให้เกิดการทุจริตอย่างมโหฬาร แม้นโยบายประกันรายได้จะ แตกต่างกับโครงการจำนำ แต่มีจุดอ่อนช่องว่างมากมายที่ต้องปิดให้ได้ หากคิดจะเดินหน้า เพื่อไม่ให้รัฐสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุมากนัก 

          จุดอ่อนแรกๆ ที่ต้องทำ คือระบบการขึ้นทะเบียน ต้องยอมรับว่าประกันรายได้ยุคก่อน มีคนมาขึ้นทะเบียนจนโอเวอร์ ทำให้ประมาณการผลผลิตสูงเกินกว่าความเป็นจริง หมายถึงเม็ดเงินส่วนต่างที่รัฐจ่ายเพิ่มขึ้นและมีเกษตรกรตัวปลอมแฝงเข้ามาหากินส่วนต่างจากเงินงบประมาณ เพราะฉะนั้นต้องปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกรอย่างเร่งด่วน แม่นยำ ตามความเป็นจริง

          ต้องยอมรับว่าการประกันรายได้ เป็นเครื่องมือแทรกแซงตลาดชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติการแทรกแซงจะใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น การประกันรายได้เป็นการกำหนดราคาฐานให้เกษตรกร หากขายในตลาดได้ตํ่ากว่าฐานประกัน ให้มาเบิกเงินชดเชยส่วนต่างเอาจากรัฐ เมื่อมีเงินรัฐชดเชยอยู่แล้วโดยส่วนใหญ่ราคาตลาดจะไม่วิ่งสูงไปกว่าฐาน เหมือนกับการกำหนดราคาอ้างอิงไว้ให้ ทำให้ตลาดไม่ทำงาน แต่ราคาจะวิ่งอยู่แถวฐานประกัน โอกาสทะลุสูงกว่าฐานประกันเป็นไปได้ยาก พ่อค้าจะทราบดีถึงราคาก็จะกดตํ่าไว้ก่อนให้เกษตรกรไปเบิกเงินหลวงชดเชยเอาได้ จะไม่มีพ่อค้าหน้าไหนซื้อสูงกว่าราคาประกันแน่นอน มีโอกาสที่ตลาดจะเกิด 2 ราคาที่ต่างกันมากระหว่างภายในกับภายนอกเพราะฉะนั้นต้องมีมาตรการเสริมอื่นปิดจุดอ่อนส่วนนี้นอกจากประกันรายได้เอาไว้รองรับด้วย

          พรรคประชาธิปัตย์ประกาศนโยบายประกันรายได้ในพืชหลักๆ เช่น ข้าวขาวไม่ตํ่ากว่า 10,000 บาทต่อเกวียน ข้าวหอมมะลิไม่ตํ่ากว่า 15,000 บาทต่อเกวียน ยางพารากก.ละ 60 บาท ปาล์มนํ้ามัน กก.ละ 4 บาท มันสำปะหลัง 2 บาทต่อ กก. และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7 บาทต่อ กก. ซึ่งราคาสมเหตุสมผลกับต้นทุนและเหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนี้ แต่เม็ดเงินที่ต้องใช้สูงกว่าแสนล้านบาทต่อปีแน่นอน 

          อันที่จริงนโยบายประกันรายได้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ถือว่าเลวร้ายมากจนเกินไป แน่นอนรัฐต้องสูญเสียงบประมาณส่วนหนึ่งในการดูแล เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีธงกำหนดไว้แล้วและทำได้เร็วในการช่วยเหลือเกษตรกร แต่จำต้องมีมาตรการเสริมอื่นเข้าไปในมาตรการนี้นอกเหนือจากปิดจุดอ่อนช่องว่างที่ว่าแล้ว

          การแก้ปัญหาสินค้าเกษตร ไม่สามารถเดินด้วยมาตรการใด มาตรการหนึ่งตามลำพัง รัฐบาลชุดใหม่ต้องเสริมในด้านอื่นด้วย เช่น การสร้างกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี การจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร การบริหารจัดการนํ้าในพื้นที่เกษตร การใช้เทคโนโลยีพยากรณ์และวางแผนการผลิต การสร้างระบบหมุนเวียนส่งผ่านสินค้าตลาดในประเทศ การบริหารจัดการตลาดต่างประเทศ มีความรวดเร็วและแม่นยำในการบริหารจัดการผลผลิตออกจากระบบ  ฯลฯ

          ที่สำคัญนักการเมืองที่กำกับดูแลบริหารจัดการ ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง เพราะทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงเกษตร ทุกขั้นตอน เปิดช่องให้มีการแสวงหาประโยชน์มิชอบทั้งสิ้น ถ้าลงทำโครงการคิดถอนทุน คิดถึงพวกพ้องเป็นหลัก นโยบายดีอย่างไรก็เดินไปสู่ความล้มเหลวตั้งแต่วันแรก 

          พรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งวุ่นวายตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาลแล้ว คงต้องใช้โอกาสนี้ในการกอบกู้เกียรติภูมิกลับคืนมา ยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรอย่างแท้จริง