PLC พัฒนาครู ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม

09 มิ.ย. 2562 | 03:30 น.

ในประเทศไทยกระทรวงศึกษาธิการบรรจุ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) หรือ PLC เป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ด้านผู้เรียนด้วยการแบ่งปันองค์ความรู้ ติดตาม และประเมินผลระหว่างครูด้วยกัน โดย โครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ได้ขานรับนโยบายดังกล่าวและนำแนวทางการส่งเสริม PLC ของสถาบันคุรุพัฒนามาปรับใช้ PLC พัฒนาครู  ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม


PLC มีรากฐานจากทฤษฎีองค์กรหลายด้าน หนึ่งในนั้น คือ ทฤษฎีองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ของ Peter Senge (1990) ที่เชื่อว่าการทำงานเป็นทีมที่สมาชิกมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและการทำงานที่มีประสิทธิผลขึ้น โดย PLC ในภาคการศึกษามีมุมมองว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้ของชุมชนวิชาชีพครู จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนของครู และสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแก่นักเรียน โดยมีกระบวนการสำคัญ คือ การจัดอบรมให้ครูรู้จักใช้เทคนิค วิธีในการจัด PLC ที่มีประสิทธิภาพ นำกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะ และการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน มาปรับกระบวนการสอนของครู สร้างการมีส่วนร่วม เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ วิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาแนวทางการสอน


อีกหนึ่งกระบวนการที่สำคัญ คือ การสร้างเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ มีการเปิดชั้นเรียน เพื่อให้ครูและสมาชิกเครือข่ายร่วมกันตั้งเป้าหมาย ในการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน วางแผนบทเรียนและสังเกตชั้นเรียนของกันและกัน ร่วมกันสะท้อนและอภิปรายถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่สังเกตเห็นและวิเคราะห์ภาระงานของนักเรียนด้วยกัน เพื่อนำไปปรับปรุงบทเรียน และกระบวนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง

 

การทำ PLC ของครูที่ร่วมอบรม ของโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา จังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ความยากไม่ได้อยู่ที่เรื่องความร่วมมือของผู้บริหารหรือครู แต่ยากตรงที่จะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นและเห็นผลได้จริง และหัวใจของ PLC คือการ Sharing โดยก่อนที่จะแชร์ได้ ก็ต้องเปิดใจก่อน 

จากการถอดบทเรียนการทำงานด้าน PLC กว่า 4 ปีของทุกภาคส่วนทั้งเครือข่ายคุรุสภาและเครือข่ายโครงการ ในกลุ่ม School Leadership พบว่า Best Practice ที่ประสบความสำเร็จ เหมาะเป็นต้นแบบในพื้นที่อื่นๆ คือ “ขอนแก่นโมเดล” อันเป็น PLC รูปแบบใหม่ เรียกว่า School Improvement Network เกิดขึ้นที่โรงเรียน พิศาลปุณณวิทยา ซึ่งมีสำนักการศึกษาฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ต้นสังกัดในพื้นที่เป็นแกนหลักขับเคลื่อนการพัฒนาชั้นเรียนและโรงเรียนแบบครบวงจรทั้งระบบ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้นำและพี่เลี้ยงวิชาการในเครือข่าย โดยเครือข่าย PLC รูปแบบนี้กำลังเติบโตอย่างเข้มแข็งในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น ฉะเชิงเทรา สงขลา และสุรินทร์  PLC พัฒนาครู  ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม


ในปีที่ 5 โครงการยกระดับความร่วมมือเพื่อสร้างความยั่งยืนยิ่งขึ้นด้วยการผนึกความร่วมมือ “รัฐร่วมเอกชน” กับคุรุสภา เพื่อต่อยอดการดำเนินงาน PLC โดยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติของโครงการ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมากับคุรุสภา เพื่อหาแนวทางต่อยอดสร้างเครือข่ายต้นแบบ และกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนแบบโดมิโนเอฟเฟกต์์ เพื่อพัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอนและพัฒนาโรงเรียนที่มีประสิทธิ ภาพ และร่วมกับคุรุสภา จัดสรรทุนเพื่อพัฒนาต้นแบบของเครือข่าย PLC ที่เข้มแข็ง และล่าสุด โครงการ และ คุรุสภา ยังร่วมกันพัฒนาต้นแบบ School Improvement Network ส่งเสริมความร่วมมือแบบพันธะสัญญา โดยจัดสรรทุนสนับสนุนเครือข่าย PLC ประเภทล่าสุด ที่เป็นการร่วมลงขันของภาคี 3 ฝ่าย “คุรุสภา - โครงการ - หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ขอทุน” ซึ่งผู้ที่จะขอรับทุนรูปแบบนี้ ต้องสร้างให้เกิดเครือข่ายวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบครบวงจร ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ หน่วยงานต้นสังกัด ผู้อำนวยการโรงเรียน และ ครู 

หน้า 23 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,476 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2562

PLC พัฒนาครู  ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม